ยอดสมัคร ‘LTR VISA’ ทะลุ 1 พันราย ‘เศรษฐีวัยเก๋า’ 430 รายขอวีซ่าอยู่ไทยระยะยาว

ยอดสมัคร ‘LTR VISA’ ทะลุ 1 พันราย  ‘เศรษฐีวัยเก๋า’ 430 รายขอวีซ่าอยู่ไทยระยะยาว

ยอดยื่นสมัคร LTR Visa ทะลุ 1,000 ราย กลุ่มเกษียณอายุรายได้สูง และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ยื่นขอสูงสุดเกิน 30% ของยอดทั้งหมด  สหรัฐฯยื่นใบสมัครสูงสุด 232 รายรองลงมาเป็นจีน 140 ราย สหราชอาณาจักร 109 ราย

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเปิดรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงพำนักในประเทศไทยผ่านการเปิดรับสมัครยื่นขอวีซ่าระยะยาว (Long – Term Resident Visa) หรือ “LTR Visa” ของรัฐบาลว่าหลังจากที่ได้เปิดให้มีการยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงานตัวเลขผู้ขอยื่นขอใบสมัคร LTR Visa อยู่ที่ 1,158 ราย

โดยประเทศที่มีการยื่นขอใบสมัครมากที่สุดได้แก่ สหรัฐฯ 232 ราย รองลงมาคือประเทศจีน 140 ราย  สหราชอาณาจักร 109 ราย เยอรมัน 68 ราย และออสเตรเลีย 51 ราย ที่เหลือเป็นผู้สมัครจากประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ สามารถแบ่งตามกลุ่มของชาวต่างชาติที่ยื่นใบสมัคร LTR Visa เข้ามาในกลุ่มต่างๆ ดังนี้

1.กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizens) ต้องมีทรัพย์สินมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์/ปี และลงทุนในไทยไม่น้อยกว่า  5 แสนดอลลาร์ มีผู้ยื่นใบสมัครแล้ว 88 คน คิดเป็น 8%

2. ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner)  ต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์/ปี กรณีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์ ในพันธบัตรรัฐบาล หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยมีผู้สมัครเข้ามาแล้ว 430 คน คิดเป็น 37%

3. ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work from Thailand) ต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์/ปี กรณีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series A โดยในกลุ่มนี้มีผู้สมัครเข้ามาแล้ว 366 คน คิดเป็น 32%

4. ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professionals) ต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์/ปี กรณีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีหรือมีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เข้ามาทำในประเทศไทย ในกลุ่มนี้มีผู้สมัครมาแล้ว 160 คน คิดเป็น 14%

ที่เหลือเป็นการยื่นขอใบสมัครของคู่สมรส และบุตรของผู้ทต้องการทำงานและพำนักอาศัยระยะยาวในประเทศไทย โดยมีคนที่ยื่นใบสมัครวีซ่าในส่วนนี้ 144 คน คิดเป็น 14%

สำหรับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ถือ LTR Visa จะได้สิทธิพำนักในประเทศไทย 10 ปี สามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) และไม่ต้องยื่นขออนุญาตกลับเข้ามาในราชอาณาจักร (Re-entry permit) อนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย โดยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 17 สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ และมีผู้ติดตามได้ 4 คน

ทั้งนี้ประเทศไทยมีนโยบายที่จะดึงดูดชาวต่างชาติศักยภาพสูงที่มีความสามารถ ทักษะการทำงานในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งมีความมั่วคั่งในระดับสูงให้เข้ามาทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทย 1 ล้านคน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มในระบบเศรษฐกิจจากนโยบายนี้ไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท