“พลังงาน” เร่งกู้สู้วิกฤติน้ำมัน "ออมสิน" พร้อมแข่งประมูลสินเชื่อ

“พลังงาน” เร่งกู้สู้วิกฤติน้ำมัน "ออมสิน" พร้อมแข่งประมูลสินเชื่อ

“พลังงาน” ห่วงราคาพลังงานปลายผันผวน รัฐอัดเงินอุ้มไปแล้ว 3.5 แสนล้าน เดินหน้าใช้กองทุนอุ้มต่อ เผยกู้ทีเดียว 1.5 แสนล้านไม่ได้ หารือ “คลัง” สรุปแผนกู้ สบน.บรรจุกู้ใหม่ 1.2 แสนล้าน ในแผนก่อหนี้ปี 66 “ออมสิน” ยันร่วมแข่งประมูลสินเชื่อ “สรรพสามิต” ยังไม่ต่ออายุลดภาษีดีเซล

วิกฤติซ้อนวิกฤติของโควิด-สงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อราคาพลังงานทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หามาตรการเบาเทาผลกระทบให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ตลอดปี 2565 ถือว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย เพราะยังอยู่ในระยะสั้น โดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3%สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาคือมติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 ว่าจะลดกำลังการผลิตลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ย. -ธ.ค. 2565 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และอาจจะกระทบกับระดับเงินเฟ้อ และกระทบการนำเข้าราคาน้ำมันที่ต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับแผนรับมือวิกฤติพลังงาน นั้น กระทรวงฯ จะยังคงใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการตรึงราคาโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบันใช้เงินวันละประมาณ 200 ล้านบาท (ตกลิตรละ 4 บาท เคยสูงสุดถึงลิตรละ 14 บาท) ซึ่งวันที่ 20 พ.ย. 2565 จะครบกำหนดที่กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซลให้ลิตรละ 5 บาท และหากไม่มีการต่อมาตรการจะทำให้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มทันทีอีก 5 บาท

ทั้งนี้ แม้ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนและกรอบวงเงินกู้ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 1.7 แสนล้านบาท เพื่อรับการกู้เงินเสริมสภาพคล่องกองทุน 1.5 แสนล้านบาท และร่างพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงผันผวน กองทุนน้ำมันต้องจ่ายเงินออกทุกวัน อาจส่งผลมาถึงกำลังการชำระหนี้ที่อาจกู้ได้ไม่ถึง 1.5 แสนล้านบาท แม้ว่าตามแผนการกู้จะเป็นการทยอยกู้ครั้งละ 1-2 หมื่นล้านบาทก็ตาม

“หลังจากนี้ต้องดูนโยบายแล้วหารือต่อว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะกำลังการชำระเงินกู้ ยิ่งเมื่อกลุ่มโอเปกประกาศลดกำลังการผลิต เพียงอาทิตย์เดียวราคาปรับขึ้น 20 ดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนขึ้นมาถึงลิตรละ 4 บาท จึงก็ต้องจับตาทั้งเรื่องของการเมืองรัสเซียกับยูเครนที่ยังมีการปะทะกันอยู่ อีกทั้งช่วงหน้าหนาวของยุโรปก็จะส่งผลถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่จะสูงขึ้นก็อาจจะมหันมาใช้น้ำมันแทน กระทรวงพลังงานจึงต้องจับตาราคาน้ำมันวันต่อวัน” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 9 ต.ค.2565 ติดลบ 124,079 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 82,666 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 42,413 ล้านบาท จากเดิมเงินในบัญชีเดือน ก.ย.2564 มีเงินในบัญชีเป็นบวกกว่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันใช้เงินอุดหนุนเฉพาะน้ำมันไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท

 

“คลัง”พร้อมค้ำประกันเงินกู้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ราชกิจจาประกาศพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเป็นไปตามแผนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า จะกู้เท่าไหร่ โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจัดการทำแผนการกู้และบริหารสถานะการเงินให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ทั้งนี้ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เงินทั้ง 1.5 ล้านบาทในครั้งเดียว เพราะว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันบางส่วนก็ลดลงแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้กระทรวงการคลังเข้าค้ำประกันเงินกู้ให้แก่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พร้อมค้ำประกันเงินกู้ให้ ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคงอยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ในราชกิจจาฯกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้แก่สำนักงานกองทุนน้ำมันฯในวงเงินไม่เกิน1.5แสนล้านบาทในระยะเวลา1ปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้หรือนับตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.เป็นต้นไป

ค้ำเงินกู้ก้อนแรก3หมื่นล้าน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงการคลังค้ำประกันได้ตามวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ คือ จำนวนไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะค้ำในวงเงินที่มากกว่านี้ ทางกระทรวงพลังงานจะต้องเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

“แม้ว่าราชกิจจาฯประกาศให้เราค้ำประกันเงินกู้แก่กองทุนน้ำมันเชือ้เพลิงได้ในวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท แต่เรายังค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ตามที่ ครม.มีมติก่อนหน้านี้เท่านั้น หากจะให้ค้ำเพิ่มเติมทาง ครม.ต้องอนุมัติมาให้เพิ่มเติมอีกครั้ง”

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในวงเงินกู้ 3 หมื่นล้านบาท ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขออนุมัติจาก ครม.นั้น ได้ถูกจัดอยู่ในแผนการก่อหนี้ปี 2566 ไว้แล้ว แต่ในส่วนที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาทนั้น ยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในแผนการก่อหนี้ในปีดังกล่าว ซึ่งทางกระทรวงการคลัง โดย สบน.จะต้องพิจารณานำมาใส่ไว้ในแผนการก่อหนี้ปี 2566 อีกครั้ง

“ออมสิน”พร้อมประมูลอุ้มน้ำมัน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้ดังกล่าวแล้ว แนวทางการกู้เงินของหน่วยงานรัฐ จะเป็นไปในลักษณะการเปิดประมูล ซึ่งธนาคารออมสินในฐานะแบงก์ของรัฐก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมประมูลสินเชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางกองทุนน้ำมันยังไม่ได้ส่งสัญญาณหรือติดต่อเกี่ยวกับการกู้เงินดังกล่าว

“เราจะเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีใครมาประมูลเลย ทางกองทุนก็จะลำบาก อย่างไรก็ตาม เราในฐานะแบงก์รัฐก็จะเป็นแบ็คอัพหรือผู้ประมูลให้”

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯ ยังไม่ได้รับนโยบายในเรื่องการต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 20พ.ย.นี้ ซึ่งยังเหลือเวลาในการพิจารณาอยู่มาก และ ต้องพิจารณาปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากราคาน้ำมันปรับลด เราก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณามาตรการดังกล่าว

วงเงินอุ้มพลังงานปีนี้ 3.5 แสนล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หากรวมเงินเฉพาะที่รัฐบาลช่วยเหลือค่าพลังงานตั้งแต่ต้นปี 2565 แบ่งเป็นเงินจากกองทุนน้ำมันที่ 144,079 ล้านบาท ค่าไฟฟ้า 118,000 ล้านบาท และเงินจากภาษีน้ำมันดีเซลจากกระทรวงการคลังประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท รวมกว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับเงินที่กลุ่ม ปตท.ให้การช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดโควิด-19 รัฐบาลให้ความสำคัญช่วยเหลือประชาชน ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.กลุ่มผู้ใช้น้ำมัน โดยการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ผ่านกลไกการอุดหนุนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) และพร้อมกับลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาท ให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 30-35 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน, ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, ปรับสัดส่วนผลสมไบโอดีเซลเหลือ B5, ผู้ประกอบการค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.4 บาทต่อลิตร, และช่วยผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สาธารณะไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน รวม 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 2565) รวม 12.3 ล้านราย และอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

2.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน โดยตรึงราคาขายปลีกนานกว่า 2 ปี ที่ถัง 15 กก. ที่ 318 บาท และทยอยขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 กิโลกรัมละ 1 บาทจนถึงเดือน ก.ย.คงราคาเป้าหมายที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก. จนถึงปัจจุบันโดยใช้เงินจากบัญชีกองทุนน้ำมันไปแล้ว 43,596 ล้านบาท

นอกจากนี้ช่วยผู้มีรายได้น้อย 3.63 ล้านคน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากเดิม 45 บาท/คน/3 เดือน เป็น 100 บาท/คน/3 เดือน กว่า 4 ล้านราย, ขยายระยะเวลาช่วยส่วนลดราคา LPG กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย โดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการกว่า 80,000 ราย

3.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า โดยปรับลดและตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่า Ftงวด ก.ย.2564-ส.ค. 2565 กว่า 110,000 ล้านบาท

รัฐช่วยค่าไฟถึง ธ.ค.65

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับขั้นตอนเป็นขั้นบันไดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 อนุมัติงบกลาง 8,000 ล้านบาท เช่น กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย 

กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft แบบขั้นบันได 15-75% รวมเป็นงบประมาณทั้งหมด 118,000 ล้านบาท

รวมทั้งรัฐบาลได้พยายามเจรจาผู้ประกอบการโรงกลั่น เพื่อขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมัน โดย ปตท. อนุมัติเงินช่วยเหลือเดือนละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.2565) รวม 3,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง