ภาคเอกชนกระทุ้ง "บอร์ดอีวี" เคาะแผนหนุนผลิตแบตเตอรี่

ภาคเอกชนกระทุ้ง "บอร์ดอีวี" เคาะแผนหนุนผลิตแบตเตอรี่

เอกชน จี้รัฐเคาะมาตรการหนุนการผลิตแบตเตอรี่ในไทย หลังไร้เงากรรมการบางส่วนร่วมประชุมบอร์ดอีวี สอท. แนะรื้อกฎหมายเดิมให้ทันสมัยจูงใจนักลงทุน ด้านพลังงาน เร่งอีโคซิสเต็มอีวีรับเป้าหมายเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิล 

ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศต่างๆ จึงได้ร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเวที COP26 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมย์ที่ไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065

โดยประเทศไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันจากแหล่งฟอสซิล ดังนั้น รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)

โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดEV เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดอีวี เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา พบว่า ยอดจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิตามมาตรการรวมทั้งสิ้น 17,068 คัน ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 2,572 หัวจ่าย จาก 869 สถานี พร้อมเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ โดยจะนำร่องจากรถตุ๊กตุ๊ก EV

พร้อมกับเร่งจัดทำแพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้ตกลงร่วมมือเชื่อมโยงเครือข่ายแอพพลิเคชั่นการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าแต่ละรายแบบ Real-Time เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเห็นข้อมูลบนทุกๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว ในอนาคตจะสามารถสั่งชาร์จและจ่ายเงินระหว่างกันได้จากทุกแพลตฟอร์ม

ส่วนการกำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Low Priority ได้กำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Public EV Charger) ที่หน่วยละ 2.9162 บาท ส่วนการจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า ได้จัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จ 123 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่ เต้าเสียบ-เต้ารับ มอเตอร์ และอินเวอร์เตอร์ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญ 40% ของรถอีวี โดยบอร์ดอีวีได้ให้กรมสรรพสามิตนำไปพิจารณามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเสนอคณะกรรมการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

ไร้เงาก.อุตฯร่วมประชุมบอร์ดอีวี 

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดอีวีที่ผ่านมานั้น ไม่มีการอนุมัติการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากคณะกรรมสรรมาจากหลายแหล่ง และความคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วกระทรวงพลังงาน ได้มีการจัดทำแผนเสร็จแล้วพร้อมเสนอเข้าบอร์ดมาแล้ว 2 รอบ แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณาทั้ง 2 รอบ ซึ่งบริษัทเอกชนเองก็หวังที่จะได้ความชัดเจนเพราะต้องเตรียมตัวในการดำเนินการลงทุนในเรื่องต่าง ๆ ยิ่งขณะนี้ ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ในการผลิตแบตเตอรี่ก็ยังเป็นปัญหา หากนโยบายชัดเจนจะสร้างความมั่นใจในการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะความคุ้มค่าที่จะสั่งซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

บอร์ดอีวีที่ผ่านมาไม่ราบรื่นเพราะส่วนหนึ่งอาจจะรอรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะฝั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่มีแม้แต่ปลัดและรัฐมนตรีกระทรวงเข้าร่วมประชุม โดยมาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ตอนนี้กรมสรรพสามิตเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะต้องดูในเรื่องของเงินชดเชยว่าจะจ่ายแบบไหน และจะจ่ายให้เท่าไหร่ ถือเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ความล่าช้าของการออกมาตรการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล กรมสรรพสามิต หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาจจะยังใหม่เกินกว่าที่จะเข้าใจ การตัดสินใจจึงกลัวที่จะผิดพลาด แม้ว่ารัฐบาลจะมีทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจนในการสนับสนุนจึงดันให้เป็นวาระแห่งชาติและคลอดมาตรการต่าง ๆ ออกมาทรานฟอร์มประเทศจากสันดาปมาสู่อีวี

แนะแก้กม.ให้ทันสมัยรับอุตฯใหม่

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนอาจจะยังรอความชัดเจนของการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นกลไกปัญหาเดิม ๆ เกี่ยวกับภาครัฐ ที่ต้องออกแรงอีกชั้นว่าจะทำอย่างไรไม่ใช่เฉพาะแค่ปลดล็อคเรื่องเดียว แต่จะต้องปลดล็อคเป็นพวง เหมือนกับความสามารถในการแข็งขันของประเทศที่ลดลง คือ การแก้กฎระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังเก่าอยู่ก็ควรรีบแก้ให้ทันสมัย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ใช่ว่าเมื่อออกนโยบายมาแล้ว แต่กฎหมายยังตามมาไม่ทัน

“เราต้องดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ได้การที่ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน และฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทไอทีสัญชาติไต้หวัน เข้ามาลงทุนในบ้านเราถือเป็นเรื่องดีหากภาครัฐออกกฎระเบียบที่ดี เชื่อว่าผู้ผลิตอีกหลายรายในโลกก็อยากจะมาลงทุนดังนั้น กฎหมายรองรับใหม่จึงสำคัญ”

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นรัฐบาลได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นเลขาร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในบอร์ดอีวี

โดย สนพ. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักในการช่วยผลักดันนโยบายตามเป้าหมาย 30@30 ของประเทศ คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030ผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ บอร์ดEV ได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนมาตรการผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในประเทศ เป็นต้น

โดยเป้าหมายบอร์ดอีวี ได้กำหนดการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถ EV อย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน แบ่งเป็นใช้ในประเทศ 260,000 คัน และส่งออก 100,000 คัน นอกจากนี้ บอร์ด EV ได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2568

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณอุดหนุนเงินส่วนลดตั้งแต่ 70,000 - 150,000 บาท กับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อทำโปรโมชันส่วนลดให้ประชาชน ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต ได้เตรียมงบประมาณในการอุดหนุนไว้แล้ว 3,000 ล้านบาท