‘Eco Industrial Town’ หนุนอุตสาหกรรมสู่เป้าหมาย ‘Carbon Nuetral’

‘Eco Industrial Town’ หนุนอุตสาหกรรมสู่เป้าหมาย ‘Carbon Nuetral’

ปี 2565 เป็นปีที่เทรนด์ด้านความยั่งยืนและการขับเคลื่อนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของหลายประเทศทั่วโลกเป็นไปอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงไทยภายหลังจากที่ได้ประกาศคำมั่นบนเวที COP26 ในการก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก จึงได้รับแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและการพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืน โดย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการ “ECO Innovation Forum 2022” ภายใต้แนวคิด “Eco Journey to Carbon Neutrality” เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยมีเป้าหมายให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในการผลิต เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไว้ 6 ด้าน หรือ “6S” ประกอบไปด้วย 1. Smart Agricultural Industry สนับสนุนการใช้วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีในภาคการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 

2. S-Curve สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง 

3. SMEs and Factory 4.0 พัฒนาทักษะผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมสู่การผลิตยุค 4.0 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต ลดต้นทุน ลดของเสียจากกระบวนการผลิต รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีสร้างสรรค์

4. Sustainable Development การพัฒนาโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ลดผลกระทบการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

5. Special Zone and Industrial Area การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมโดยมีแนวคิดยึดโยงกับบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญและการพัฒนาในพื้นที่ 

6. Supportive and Digital Transformation ยกระดับการบริการให้มีความสะดวกและเข้าถึงง่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเพิ่มทักษะบุคคลากรด้านดิจิทัล และการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างบิ๊กดาต้า

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ต้องการลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในอดีตที่ส่งผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและเป็นอีกกลไกหนึ่งในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ โดย กนอ. มีการพัฒนาเกณฑ์และตัวชี้วัดสำหรับโรงงานและนิคมฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นิคมฯ ทั้งหมด 67 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัด พัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งโรงงานมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-products) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

โดยเกณฑ์การรับรองเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มจาก Eco-Champion, Eco- Excellence และ Eco-World Class ซึ่งล่าสุดที่ประชุม กนอ. ได้อนุมัติมาตรการจูงใจและมอบสิทธิประโยชน์ทางการเงินให้กับนิคมฯ และโรงงานที่ผ่านเกณฑ์ ตั้งแต่ ต.ค. 2565-ก.ย. 2567 อาทิ ลดค่ากำกับการบริการ 10% ต่อปี ลดหย่อนค่าคำขอบริการด้านการใช้ที่ดิน 20% และการมองโล่เกียรติยศ โดยในปี 2565 มีนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์ Eco-Champion จำนวน 38 นิคมฯ Eco- Excellence จำนวน 20 นิคมฯ และ Eco-World Class จำนวน 6 นิคมฯ

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ส.อ.ท. ร่วมกับ กนอ. ในการร่วมกันผลักดันให้เกิดโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory and Eco Industrial Town) ผ่านการจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ และการให้คำปรึกษาแนะนำจากโรงงานที่ผ่านเกณฑ์แล้ว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการลดใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรับการบริหารจัดการให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด 

เนื่องจากเทรนด์โลกรวมทั้งแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนำโดยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ในการกำหนดกติการค้าระหว่างประเทศเก็บภาษีสินค้าที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก (Embedded Carbon) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องรีบปรับตัวเพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งในปี 2566 จะเริ่มมีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในสินค้านำเข้าของยุโรป จะส่งผลกระทบอย่างมากกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมีเนียม ที่มีการใช้พลังงานในอัตราสูง

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง 2 องค์กรหลัก ได้แก่ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการพัฒนา Thailand Carbon Credit Exchange Platform และRE100 Thailand Club เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม