“ชัชชาติ” ลงพื้นที่นิคมฯ บางชัน ตรวจสถานการณ์น้ำ พร้อมหารือปัญหา PM2.5

“ชัชชาติ” ลงพื้นที่นิคมฯ บางชัน ตรวจสถานการณ์น้ำ พร้อมหารือปัญหา PM2.5

กนอ. ประชุมร่วมกับ "ชัชชาติ" เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันน้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ กทม. มั่นใจมาตรการพร้อมรับมือ น้ำไม่ท่วม พร้อมหารือปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ให้กระทบชุมชน

​นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และพื้นที่โดยรอบ และประชุมร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงความพร้อมรับมือและมาตรการป้องกันน้ำท่วม ว่า กนอ.ให้ความมั่นใจกับผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่อยู่โดยรอบนิคมฯ วางใจและไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วม

เนื่องจาก กนอ.ได้มีการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำ ดังนี้

1. การซ้อมแผนป้องกันอุทกภัย  

2. พร่องน้้าภายในพื้นที่(ระดับพื้นถนนเฉลี่ย 1เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อเพิ่มพื้นที่การรับน้้า

3. การขุดลอกรางระบายน้ำ คูคลองรอบพื้นที่ ตามแผนงานขุดลอกประจำปี

4. ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาถึงสภาพอากาศ โดยบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (GUSCO) ได้พร่องน้ำในพื้นที่เพื่อเตรียมรับฝน และได้มีการประสานงานกับทางสำนักการระบายน้ำ กทม.เพื่อระบายน้ำ

5. ประสานงานกับสำนักงานเขต สำนักป้องกันฯ กทม. เพื่อขอรับการ สนับสนุน

6. มีระบบแจ้งเหตุทาง อีเมลล์ Line SMS ถึงผู้ประกอบการกรณีที่มีน้้าท่วมขังในพื้นที่

 

ทั้งนี้ การรับน้ำของนิคมอุตสาหกรรมบางชันสามารถระบายน้ำได้ 16,800 ลูกบาศก์เมตร/ชม. รองรับน้ำฝนของพื้นที่ได้ 65 มิลลิเมตร/ชม. ปริมาตรรางรับน้ำ 58,700 ลูกบาศก์เมตร และมีแนวเขื่อนของ กนอ.ยาว 5.7 กม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การหารือร่วมกันระหว่าง กทม.และ  กนอ.ในครั้งนี้ เพื่อตรวจดูความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมบางชันเนื่องจากมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ซึ่ง กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ กทม. 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมอัญญธาณี ซึ่งทุกนิคมฯ เป็นแหล่งจ้างงาน เศรษฐกิจ เป็นจุดที่มีทั้งนักลงทุนไทย และต่างชาติ การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีคลองแสนแสบในพื้นที่ คลองหลอแหล มีการทำเขื่อนกั้นคลองแสนแสบ คลองบางชัน ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ปิดล้อม ซึ่งหากมีฝนตกประมาณ 60 มิลลิเมตร จะไม่มีการท่วมขัง โดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน สามารถรับน้ำได้มากกว่าประมาณ 170 มิลลิเมตร มีเพีบงจุดอ่อนเดียวคือที่ วัดบำเพ็ญเหนือ ที่ไม่มีเขื่อน อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 น้ำไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางชัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเรื่องการจัดการฝุ่น pm 2.5 ซึ่งที่ผ่านมา กนอ.ได้กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบอัตราการระบายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Loading) เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลผู้ประกอบการในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์และช่วงสถานการณ์วิกฤต

โดยออกมาตรการป้องกัน ลด และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. กำกับดูแล โดยในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งในพื้นที่ กทม. มี CEMs 4 ปล่องภายในนิคมอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีการก่อสร้างน้อย การขนส่งก็ไม่น่าเกิดปัญหาในเรื่องของฝุ่นละอองมาก และกับชุมชนรอบข้างมีสัมพันธ์ที่ดีอย่างไรก็ตาม ตามที่ กทม. มีแผนสร้างบึงกระเทียม พื้นที่เขตบางชัน เป็นสวนสาธารณะ กนอ​.ก็พร้อมให้ความร่วมในการกำเนินการ อย่างเต็มที่