เปิดแผนบริหารกองทุนน้ำมัน ฝ่ามรสุม “บาทอ่อน” ต้นทุนนำเข้าพุ่ง

เปิดแผนบริหารกองทุนน้ำมัน ฝ่ามรสุม “บาทอ่อน” ต้นทุนนำเข้าพุ่ง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลกระทบวงกว้าง รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่ามากตั้งแต่กลางปี 2565 จนปัจจุบันทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ ในปัจจุบัน แม้ว่าราคาพลังงานโลกเริ่มลดลง แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่ามากได้ทำให้ราคานำเข้าไม่ลดลงมาก

กระทรวงพาณิชย์รายงานการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเดือน ส.ค.2565 มีมูลค่า 6,115 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 77.4% แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 3,701 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวในอัตรา 71% น้ำมันสำเร็จรูป 484.4 ขยายตัว 11.5% และ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม 1,407 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 254.2% 

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ค่าเงินอ่อนค่ามีผลกระทบมาก ส่งผลถึงต้นทุนที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น หากเทียบกับช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ราคาน้ำมันขึ้น 1 ดอลลาร์ จะเท่ากับ 20 สตางค์ และปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นไปแตะ 38 บาท จึงมีผลกระทบทันที เพราะค่าเงินถือเป็นตัวแปรสำคัญ อีกทั้งประเทศไทยมีปริมาณนำเข้าสูง

สกนช.ปรับแผนวิกฤติด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องสภาวะปัจจุบัน ซึ่งได้บริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน โดยการกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องและคงระดับราคาดีเซลให้กระทบผู้ใช้น้ำมันน้อยที่สุด โดยการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีเงินเพียงพอบริหารราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ กองทุนได้ปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง และยังคงดำเนินการหารือเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก และเริ่มดำเนินการกู้เงินเพื่อให้กองทุนน้ำมันไม่ขาดสภาพคล่อง รวมทั้งขยายกรอบวงเงินกู้จาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอขยายกรอบวงเงินกู้เป็น 150,000 ล้านบาท

การขอขยายกรอบขยายวงเงินกู้ที่ได้มีการขอไปที่ 170,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมกับวงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างครม. หารือในชั้นลับ ถึงแม้ว่าจะผ่านครม.แล้วหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายก็ต้องขอความเห็นชอบจากสภาอีกครั้ง ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรอีกหรือไม่ก็ยังไม่ทราบได้ ดังนั้น ปัจจุบันสกนช.จะยังใช้กรอบ 30,000 ล้านบาทก่อน และคงกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เพราะมองว่าช่วง 4 เดือนต่อจากนี้ (พ.ย.2565-ก.พ.2566) กองทุนน้ำมันจะใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันที่ 20,000-30,000 ล้านบาท”

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 มีมติเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนลิตรละ 1.15 บาท เพราะราคาน้ำมันโลกลดลง (เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2565 ที่เรียกเก็บเงินเข้ากองทุน) โดยจะช่วยให้กองทุนเริ่มมีเงินไหลเข้า 71.10 ล้านบาทต่อวัน มีรายได้เข้ามาเดือนละประมาณ 2 พันล้านบาท แต่ต้องจ่ายออกให้กับคู่ค้ามาตรา 7 ราว 5-7 พันล้านบาท ส่วนการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นก็ยังมีการหารืออยู่อย่างต่อเนื่อง

เปิดแผนบริหารกองทุนน้ำมัน ฝ่ามรสุม “บาทอ่อน” ต้นทุนนำเข้าพุ่ง

การเก็บเงินเข้ากองทุนส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมรองรับกรณีหมดอายุมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท ของกระทรวงการคลัง ในวันที่ 20 พ.ย.2565 โดยหากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุลดภาษีดีเซลจะส่งผลให้ราคาดีเซลต้องขยับขึ้นลิตรละ 5 บาท จากปัจจุบันลิตรละ 34.94 บาท ดังนั้น การที่กองทุนเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลจะนำมาบริหารจัดการไม่ให้ราคาดีเซลขึ้นถึง 5 บาท

 

รวมทั้งปีงบประมาณ 2565 บัญชีการเงินของเดือน ก.ย.2564 มีเงินจากบัญชีน้ำมัน 21,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันติดลบ 82,674 ล้านบาท ถือว่าใช้เงินอุดหนุนเฉพาะน้ำมัน 111,540 ล้านบาท โดยฐานะกองทุนน้ำมันวันที่ 25 ก.ย.2565 ติดลบ 124,216 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท โดยมีเงินช่วยเหลือ ด้านราคาก๊าซจากกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้ามาเติม 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากสัปดาห์หน้าราคาดีเซลโลกลดลงก็อาจปรับราคาลงต่ำกว่าลิตรละ 34.94 บาท แต่จะเทียบว่าราคาตลาดโลกควรเท่าไหร่ต้องดูอัตราเรียกเก็บเข้าเพราะมีอัตราดอกเบี้ยด้วย และต้องนำเงินไปใช้หนี้คู่ค้ามาตรา 7 และใช้หนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นหากจะปรับลงราคาลงจะเป็นในรูปแบบทยอยลงแบบขั้นบันไดในระดับลิตรละ 50 สตางค์ หรือ 1 บาท

ส่วนการพิจารณาราคาน้ำมันเบนซินนั้น จะขอดูบางจังหวะเพราะปกติจะให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่หากบางจังหวะทำได้อาจเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน ซึ่งเดือน ก.ย.2565 จะเห็นราคาเบนซินลดลงลิตรละ 4 บาท เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ แต่หากมีจังหวะที่ราคาลงมากอาจขอแบ่งก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตามปี 2565 กองทุนดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันให้เหมาะสมช่วงวิกฤติพลังงานตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในฤดูหนาวสูงขึ้น ต่อเนื่องถึงเดือน ก.พ.2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันตัวต่อเนื่อง และต้องใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาโดยเฉพาะดีเซล

ทั้งนี้ สงครามทางการเมืองทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ราคาอยู่ระดับเกินกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 โดยราคาดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกเดือน ก.ย.2565 เฉลี่ยที่ 131.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2564 ถึง 58% ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 82.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันส่วนบัญชีน้ำมันเริ่มติดลบตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 ขณะที่บัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบต่อเนื่องก่อนแล้วจากการตรึงราคาที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.

“ปีนี้กองทุนน้ำมันปรับราคาดีเซลราคาลิตรละ 30 บาท เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเริ่มทยอยปรับขึ้นครั้งแรก 1 พ.ค.2565 ลิตรละ 32 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ส่วนราคาก๊าซ LPG นั้น หลังจากที่ตรึงไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.มายาวนานก็ทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ที่ปรับขึ้นครั้งแรกเป็น 333 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก.”