‘สภาพัฒน์’เดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หลังครม.เห็นชอบ

‘สภาพัฒน์’เดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หลังครม.เห็นชอบ

‘สภาพัฒน์’ พร้อมเดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หลังครม. เห็นชอบ ชี้ช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 5 ด้าน เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่บริเวณชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เสนอ ดังนี้

1. การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ระเบียงฯ) เห็นชอบการกำหนดพื้นที่โดยมีขอบเขตเป็นระดับจังหวัด ดังนี้

1.1 ให้พื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงฯ ภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน

1.2 ให้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เป็นระเบียงฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

1.3 ให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงฯ ภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor: CWEC เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ ด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ กทม. และพื้นที่โดยรอบ และ EEC

1.4 ให้พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงฯ ภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor: SEC เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

2. การขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีองค์ประกอบการ 5 ด้าน ดังนี้

 (1)การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน

 

 (2) การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ 

 

(3) การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

 

และ (5) การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ

3. ความก้าวหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประกอบด้วย 


(1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค มูลค่าการลงทุนในปี 2564 จำนวน 118,637 ล้านบาท 

มีการดำเนินโครงการสำคัญ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
การใช้ประโยชน์อุทยานวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และการส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ

(2) เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี มูลค่าการลงทุนรวม (ปี 2558 – เมษายน 2565) จำนวน 36,882 ล้านบาท และการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรแล้วเสร็จประมาณ 89%