ต่างชาติถือครองที่ดิน ประเด็นที่รัฐต้องเร่งอธิบาย

ต่างชาติถือครองที่ดิน  ประเด็นที่รัฐต้องเร่งอธิบาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้จะเกิดคำถามในสังคมในประเด็นการขายชาติ และแน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกฎหมายที่ผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้ แต่มีเงื่อนไขที่รัดกุมทำให้ โดยในช่วงปี 2540 หลังวิกฤติต้มยำกุ้งได้มีการแก้ไขกฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติหรือผู้มีรายได้สูงที่มีการลงทุนในไทยตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป สามารถถือครองที่ดินได้ 1 ไร่ และหลังการใช้มา 25 ปี มีผู้ได้รับอนุมัติให้ถือครองที่ดินเพียง 8 ราย เพราะมีความยุ่งยากในขั้นตอนการพิจารณาและการอนุมัติ ซึ่งทำให้ภาครัฐมีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและมีความสะดวกมากขึ้น

ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในอาเซียนมีหลายประเทศอนุญาตถือครองที่ดิน โดยมาเลเซียให้ซื้อบ้านหรือที่ดินซื้อขายได้โดยตรง แต่ไม่อนุญาตซื้อที่ดินเขตเมือง ร้านค้าเก่าแก่ และเขตอนุรักษ์ รวมทั้งมีสิทธิเช่าได้ 99 ปี แต่จะไม่ต่อสัญญา ขณะที่สิงคโปร์ให้ซื้อคอนโดมิเนียมได้ภายใต้มาตรการภาษีที่สูง ต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านดอลลาร์ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานที่ดิน ส่วนที่ดินอนุญาตให้เช่าได้สูงสุด 99 ปี

ที่ผ่านมาถึงแม้ว่ากฎหมายของไทยจะเข้มงวด รวมถึงขั้นตอนการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติจะซับซ้อน แต่ก็มีช่องทางให้ดำเนินการได้ผ่านนอมินีผ่านหลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อทำการซื้ออสังหาริมทรัพย์แทนชาวต่างชาติ จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลจะหาทางลดปัญหาดังกล่าว รวมถึงการสร้างโอกาสเพื่อจูงใจชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพื่อเป็นแรงสนับสนุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากวิกฤติโควิด-19 และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่กำลังเกิดขึ้น

หลายฝ่ายมองว่าการที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงนำมาสู่โครงการขอวีซ่าเพื่อพำนักในไทยระยะยาว (LTR VISA) ได้ให้ข้อมูลว่าชาวต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเพื่ออยู่อาศัยได้ จากเดิมที่อนุญาตให้ซื้อได้เฉพาะคอนโดมิเนียม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้จะเกิดคำถามในสังคมในประเด็นการขายชาติ และแน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย โดยในมุมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ย่อมเห็นด้วยที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวจำเป็นที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลที่ได้รับและผลเสียเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจ