เศรษฐกิจ-การลงทุนในยุค ‘เปลี่ยนผ่าน’ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เศรษฐกิจ-การลงทุนในยุค ‘เปลี่ยนผ่าน’ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี คำถามที่ผู้เขียนได้รับบ่อยๆ คือ แล้วเศรษฐกิจจะไปยังไงต่อ เงินเฟ้อจะยังสูงไหม ดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ราคาโภคภัณฑ์จะยังสูงอยู่หรือไม่ บทความนี้จึงขออนุญาตสรุปภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินดังนี้

ในภาพใหญ่ ผู้เขียนมองว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้น จะเป็นช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ระหว่างเงินเฟ้อที่กำลังสู่จุดสูงสุดและเริ่มลดลง ขณะที่เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอลงจริงจังขึ้น ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐเริ่มทรงตัว โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ทำให้ตลาดเชื่อได้แล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ยจนถึงจุดสูงสุดที่ 4% ในขณะที่ดอกเบี้ยประเทศอื่นๆ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสหรัฐจะยังต้องขึ้นต่อเพื่อตามสหรัฐให้ทัน

ในภาพเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องตีให้แตกคือ เงินเฟ้อ สำหรับผู้เขียนแล้ว เห็นว่าสัญญาณเงินเฟ้อนั้นแตะจุดสูงสุดแล้วและจะเริ่มชะลอลงมากขึ้น ทั้งในสหรัฐและทั่วโลก ในสหรัฐ สัญญาณจากตัวเลขดัชนีชี้เงินเฟ้อต่างๆ รวมถึงตัวเลขการสำรวจความคาดหวังเงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าเริ่มลดลง บ่งชี้ว่าผู้คนเริ่มกังวลกับทิศทางนโยบายการเงินที่ตึงตัวและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าองค์ประกอบสำคัญ เช่น ค่าขนส่ง เครื่องแต่งกาย รวมถึงราคาสินค้าหมวดด้านการผลิต เช่น ราคารถมือสอง ลดลงทั้งสิ้น ยังมีแต่เงินเฟ้อฝั่งบริการทรงตัว ขณะที่ค่าเช่าบ้านที่ยังปรับเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดราคาบ้านก็เริ่มชะลอลงแล้ว ผลจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการอสังหาฯ ลดลง 

เช่นเดียวกับรายงานเศรษฐกิจภูมิภาค (Beige book) ของ Fed ที่บ่งชี้ถึงภาวะต้นทุนที่เริ่มทรงตัวและปรับลดลง ขณะที่ในระดับโลก เริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเข้าสู่จุดสูงสุด (peak) และเริ่มลดลงมากขึ้น เงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงมาพร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอลงมากขึ้น โดย Momentum เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จาก

  • นโยบายการเงินที่ตึงตัว
  • ความเสี่ยง
  • วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป
  • ความต้องการภายในประเทศของจีนที่ชะลอลงจาก Zero covid policy

หากพิจารณาในเครื่องชี้วัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เริ่มชะลอลงรวมถึงหดตัวในหลายภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจริง เช่น ภาคแรงงานสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ยอดค้าปลีกสหรัฐเริ่มไม่ขยายตัว ตัวเลขภาคการผลิตยุโรปเข้าโซนหดตัว ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์เศรษฐกิจจะชะลอแรงและเงินเฟ้อสูง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีนชะลอแรงอีกครั้งในเดือน ก.ค. ทำให้ตัวเลขการนำเข้าจีนที่ลดลงและหดตัวในบางตลาด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั่วโลกในระยะถัดไป

เศรษฐกิจ-การลงทุนในยุค ‘เปลี่ยนผ่าน’ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในฝั่งของยุโรปกำลังเผชิญกับ 3 วิกฤติพร้อมกัน คือ พลังงาน เงินเฟ้อ และการคลัง โดยในปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งขึ้นกว่า 10 เท่ากว่าค่าเฉลี่ยทศวรรษก่อน หลังจากรัสเซียยุติส่งก๊าซให้ยุโรป และทำให้ความเสี่ยงขาดแคลนพลังงานในฤดูหนาว รวมถึงความเสี่ยงเงินเฟ้อมีมากขึ้น ส่งผลให้ ECB ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ 

นอกจากนั้น การที่รัฐบาลแต่ละประเทศในยุโรปได้ทำมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติพลังงาน ทำให้ภาระการคลังเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่จะชะลอลงมากและทำให้รายได้รัฐบาลลดลง ทำให้เสี่ยงต่อวิกฤติหนี้สาธารณะและการเมืองมากขึ้น ข้ามมาที่นโยบายการเงิน สัญญาณจาก Fed ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell รวมถึงประธาน Fed ท่านอื่น ส่งสัญญาณต่อเนื่องเพื่อให้ตลาดเชื่อว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึง 4% ปัจจุบันตลาดได้เชื่อตามที่ Fed ต้องการแล้ว (สะท้อนจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ให้โอกาสดอกเบี้ย Fed ขึ้นถึง 3.75-4.00% ในการประชุมเดือน ธ.ค. สูงถึงกว่า 71%) ซึ่งภาพเช่นนั้นจะทำให้เงินเฟ้อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาต่อไป

ส่วนของประเทศไทย เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อาจช้ากว่าที่เคยมองไว้ จากต้นทุนการผลิตรวมถึงค่าครองชีพที่สูงมีมากขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ชะลอลง รวมถึงเป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียม (K-shaped recovery) เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากยังมีปัญหา (เห็นจากสินเชื่อที่ต้องเริ่มระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือ Special Mention Loan ของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น) ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น บ่งชี้ความต้องการสภาพคล่องของบุคคลเริ่มเพิ่มขึ้น

ด้านการส่งออกเริ่มเป็นความเสี่ยงในระยะต่อไป โดยตัวเลขล่าสุดชะลอลงอย่างชัดเจน ผลจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ จากการ Lockdown เมืองสำคัญของจีน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งมอบ 

สำหรับตลาดส่งออกเริ่มเติบโตชะลอลง ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง นอกจากนั้น การนำเข้าสูงทำให้ดุลการค้าและการส่งออกสุทธิเป็นลบ ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจและลดทอนผลบวกจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว

การฟื้นตัวที่ชะลอลงจะทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปจะลดลง โดยเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วและจะปรับลดลง เนื่องจากหากพิจารณาจากเงินเฟ้อผู้ผลิต จะเห็นการส่งผ่านของเงินเฟ้อลดลง โดยราคาสินค้ากึ่งสำเร็จรูปลดลง ขณะที่หมวดวัตถุดิบทรงตัว สอดคล้องกับราคาโภคภัณฑ์ที่ลดลง บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งผู้ผลิตเริ่มลดลง 

ขณะที่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบเงินเฟ้อผู้บริโภค จะเห็นว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะหมวดอาหารเป็นหลัก ซึ่งจะลดลงในช่วงต่อไปเนื่องจากผลผลิตมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเป็น ความเสี่ยงว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อมีโอกาสเริ่มติด บ่งชี้ว่า ธปท. พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 28 ก.ย. นี้ ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ภาพดังกล่าวจะทำให้เกิด “จุดพักใจ” ในแง่ของการลงทุน กล่าวคือ สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นตลาดสามารถไปต่อได้ หลังจากตลาดเริ่มชัดเจนเรื่องนโยบายการเงิน ขณะที่ผลประกอบการยังขยายตัวได้ (แต่จะแย่ลงในปีหน้า) 

ด้านผลตอบแทนพันธบัตรจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเข้าสู่สมดุลใหม่ หลังจากตลาดเชื่อตาม Fed ว่าดอกเบี้ยจะไปสู่จุดสูงสุดที่ประมาณ 4% ในวัฐจักรนี้ ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะยังทรงตัวในระดับต่ำ และสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจมากขึ้น เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนผ่าน ส่วนการลงทุนเข้าสู่ย่านพักใจ นักธุรกิจและนักลงทุน เตรียมไฟต์ยกต่อไปหรือยัง 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่