ชลประทาน ยืนยันน้ำจากเขื่อนไม่เข้าท่วม กทม.

ชลประทาน ยืนยันน้ำจากเขื่อนไม่เข้าท่วม กทม.

กรมชลประทาน คาดเก็บน้ำใช้ลุ่มเจ้าพระยา หน้าแล้ง ปี 66 ได้ 9 พันล้านลบ.ม. ขณะอ่างขนาดใหญ่-กลางทั่วประเทศ ยังเหลือช่องว่างเก็บน้ำได้อีก 26,445 ล้าน ลบ.ม. ยืนยันน้ำจากเขื่อนไม่ท่วม กทม. ไม่ซ้ำรอย ปี54

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า ในปีนี้ภาวะอากาศของไทยก้าวสู่ลานิญ่าอย่างเต็มที่  ดังนั้นปริมาณฝนจะมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา  จะเห็นได้จาก ฝนที่มาเร็วตั้งแต่ต้นฤดู และค่าฝนเฉลี่ยมากกว่าที่คาดไว้ โดยช่วงที่ฝนจะตกได้ในประเทศไทย จะยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม แต่มากน้อยเพียงใดนั้นต้องรอผลคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไป

ชลประทาน ยืนยันน้ำจากเขื่อนไม่เข้าท่วม กทม. ชลประทาน ยืนยันน้ำจากเขื่อนไม่เข้าท่วม กทม.

อย่างไรก็ตาม ในช่วง ฤดูแล้ง ปี 66 นี้ (1 พ.ย.2565- 30 เม.ย. 2566)  กรมชลประทานคาดว่าจะเก็บน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)  มากกว่าปีที่ผ่านมาที่เก็บน้ำได้ 7,700 ล้านลบ.ม.)  โดยน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจะบริหารจัดการต่อไป ตามลำดับความสำคัญคือเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม

 

โดยในส่วนของภาคการเกษตร นั้น จะเป็นช่วงที่เกษตรทำนาปรัง คาดว่าปีนี้จะทำได้มากขึ้นในการทำนาปรังครั้งที่ 1 หรือต่อเนื่องจากนาปีที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไป 

ส่วนนาปรังครั้งที่ 2 นั้น  อาจจะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแผนการเพาะปลูกต่อไป

 

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง   

  • ปัจจุบันมีปริมาตร 49,643 ล้าน ลบ.ม. หรือ 65%
  • ปริมาตรน้ำใช้การได้ 25,719 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 54% 
  • ปริมาน้ำไหลลงอ่าง 592.71 ล้าน ลบ.ม.
  • ปริมาณระบาย 257.98 ล้าน ลบ.ม.
  • สามารถรับน้ำได้อีก 26,445 ล้าน ลบ.ม.

“ปริมาณน้ำในอ่างดังกล่าวยังห่างไกลมากเมื่อเทียบกับปี 54 ที่เขื่อนภูมิพลมีน้ำเต็มอ่างเป็นครั้งแรก ทำให้ต้องระบายออก  แต่ขณะนี้น้ำในเขื่อนภูมิพลมีเพียง  7,230 ล้าน ลบ.ม. หรือ  54% เท่านั้น  ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า ปีนี้จะไม่มีน้ำจากเขื่อนไหลเข้าท่วม กรุงเทพ อย่างแน่นอน   แต่กรณีน้ำท่วมจะเกิดขึ้นได้ จะเป็นผลมาจากฝนตกในพื้นที่เท่านั้น 

 

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ของกรมชลประทานในลุ่มเจ้าพระยา  เมื่อปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท ซึ่งกรมชลประทานจะใช้เป็นเครื่องมือทดน้ำ โดยระบายออกทั้งฝั่ง ซ้าย หรือตะวันออก ผ่านคลองรังสิต ออกแม่น้ำบางปะกง เพื่อลงทะเล และฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตก ลงแม่น้ำท่าจีนและออกสู่ทะเล โดยระหว่างทางจะมีประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อปรับระดับน้ำที่เหมาะสมอีกครั้ง

ขอสังเกตว่าปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนต่างๆ เมื่อสมทบกับปริมาณน้ำฝนระหว่างทางจนถึงเขื่อนเจ้าพระยาจะมีผลกระทบต่อกรุงเทพ หรือไม่นั้น  

อยากให้ประชาชน วิเคราะห์จากปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน  อ.บางไทร สถานี C.29A  ซึ่งสามารถรับปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดได้ 3,400-3500 ลบ.ม. ต่อวินาที   หากเกินกว่านี้จะถือว่าอันตราย  

ปัจจุบัน (9 ก.ย.) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,08 ลบ.ม. ต่อวินาที น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 54 มีปริมาณน้ำไปผ่านกว่า 3,700 – 3,800  ลบ.ม. ต่อวินาที เท่านั้น  

นอกจากนี้กรมชลประทานยังมี แผนรับมือน้ำท่วม โดยการผันน้ำเข้า 22 ทุ่งเจ้าพระยา แต่วิธีการนี้จะใช้เป็นวิธีการสุดท้าย เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่  แต่เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้แต่ต้นฤดูกาล กรมชลประทานจะระบายนออกจาเขื่อนตั้งแต่เดือน เม.ย. เข้าสู่ทุ่งบางระกำ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่นี้ทำนาปีก่อนใคร และเก็บเกี่ยวก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก เลี่ยงความเสียหาย ซึ่งจากผลดำเนินการช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เป็นที่พึงพอใจของเกษตรกร

 “ ทั้งหมดนี้การดำเนินการกรมชลประทานจะลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชน  ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  อย่างไรก็ตาม กรมฯ อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ฝน  หากพื้นที่ใดตกหนักมา กรมชลก็พร้อมจะขนเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือเร่งระบาย เพื่อลดระดับน้ำให้เป็นปกติเร็วที่สุด”