ACT ชวนคนไทยใช้ ’ยันต์กันโกง’ ตรวจสอบคอร์รัปชัน

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ (ACT) จัดกิจกรรม "วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2565" ภายใต้แนวคิด "ผู้นำ กับการปราบโกง"

โดยประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายวิเชียร พงศธร ย้ำว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน คือปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ และสร้างความทุกข์ให้กับประชาชน แต่วันนี้เริ่มเห็นบทบาทของทุกภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกันพยายามแก้ไขปัญหานี้ เปรียบเสมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง ก่อนจะเชิญชวนคนไทยร่วมสแกน “ยันต์กันโกง” เข้าถึงแพลตฟอร์ม ACT (AI) เป็นอาวุธสู้โกง ซึ่งจากเดิมทำได้ยากและไม่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบการคอร์รัปชันได้ อาทิ ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้าง  ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง  ตรวจสอบงบท้องถิ่น ตรวจสอบการใช้งบในแต่ละโรงเรียน เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้คะแนนการต่อต้านคอร์รัปชันภายในกระทรวงอยู่ที่ 8 เต็ม 10 โดยเน้นหนักเข้มงวดกวดขันในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ่ายเงินนั้น จะต้องมีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญจะต้องมีความโปร่งใส อีกทั้งยังมองปัญหาการคอร์รัปชันอยู่ที่ระบบงาน และเรื่องของบุคคล ซึ่งหากบุคคลนั้นไม่มีความสำนึกในเรื่องของการทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตก็ไม่แปลกที่จะเกิดปัญหา

นายอาคม ยังบอกว่ากระทรวงการคลังได้ใช้ระบบ “จีเอฟเอ็มไอเอส” เพื่อป้องปรามปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งในระบบจะเปลี่ยนแปลงตัวเลขไม่ได้ และยังหลีกเลี่ยงปัญหาจากการใช้ดุลยพินิของบุคคลเพื่อหาช่องทางคอร์รัปชันด้วย

ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มองว่าผู้นำคือสิ่งสำคัญที่สุดต่อการเป็นแบบอย่างให้กับบุคลากรในองค์กร ต้องประกาศว่าเราไม่เอาคอร์รัปชัน รวมถึงทำเป็นนโยบายที่ชัดเจน นายชัชชาติยังพูดถึง การรับของขวัญ ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งยังมองว่าการสร้างจิตสำนึกมีความเป็นไปได้มากและง่ายที่สุด 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังเล่าย้อนถึงวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง โดยได้ให้คณะทำงานเขียนว่ากรุงเทพมหานครมีการคอร์รัปชันอะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรู้ฉะนั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นายชัชชาติ ยก 3 ทุจริตหลักของกรุงเทพมหานคร คือ 1.การจัดซื้อจัดจ้าง ล็อกสเปกเอื้อประโยชน์ 2.การขอใบอนุญาต  3.การเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะกับคนที่ทำผิดกฎหมาย

นายชัชชาติ ทิ้งท้ายว่าทุกองค์กรต้องยอมรับความจริงก่อนว่าองค์กรเราทุจริตตรงไหน ซึ่งหากไม่ยอมรับ จุดนี้จะเป็นจุดอ่อนก็คงไม่สามารถทำโครงการสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้ 

ขณะที่ผู้นำจังหวัดและท้องถิ่น ต่างเห็นตรงว่าผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบริหารงานให้เกิดความโปร่งใสในองค์กร ผู้นำต้องเห็นว่าเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และจริงจังแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่อิงกระแส ในส่วนของกฎหมายก็พบมีช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการทุจริตได้ อีกทั้งกาสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม ให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งปลูกจิตสำนึกว่าการทุจริตคือมะเร็งร้ายของสังคม

ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าตนในฐานะพ่อเมืองต้องทำให้ข้าราชการของตนมีสรรถนะ โดยยก 5 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.การทำงานต้องมุ่งผลสำเร็จ  2.ข้าราชการต้องสั่งสมประสบการณ์ และศึกษาเรียนรู้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  3.ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม  4.มีจิตบริการ  5.ต้องมีทีมเวิร์ค