“บิ๊กคอร์ป”รุก แพลนท์เบส ปตท. -ซีพีเอฟ -เบทาโกร พร้อมลุยธุรกิจใหม่

“บิ๊กคอร์ป”รุก แพลนท์เบส  ปตท. -ซีพีเอฟ -เบทาโกร พร้อมลุยธุรกิจใหม่

“บิ๊กคอร์ป”ลุยธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ปตท.ส่ง “อินโนบิก” ร่วมทุน “เอ็นอาร์เอฟ” ตั้งโรงงานแพลนท์เบส จับมือ Wicked เจาะตลาดอังกฤษ “ซีพีเอฟ” ตั้งโรงงานที่สมุทรสาคร เดินเครื่องปี 66 กำลังผลิต 1.2 หมื่นตัน “เบทาโกร” จับมือสตาร์ทอัพลุยนวัตกรรมแพลนท์เบส

ตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลกกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทยเกาะกระแส “แพลนท์เบส” ด้วยการรุกตั้งโรงงานผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะตลาดส่งออกภูมิภาคอเมริกาเหนือที่เป็นตลาดสำคัญ ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตลาดจีนกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.สนใจเข้าสู่ธุรกิจยาและอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ในอีก 5 ปี ข้างหน้าคนไทยที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีจะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ความต้องการที่จะต้องใช้ยารักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน จะมีมากขึ้น เช่นเดียวกับความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรืออาหารที่จะต้องใช้ทางการแพทย์กับผู้ป่วยที่มีความต้องการจะมีมากขึ้น

 

ทั้งนี้ อินโนบิกจะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้เพื่อให้เกิดการลงทุนในสาขาเหล่านี้ที่ถือเป็น New S Curve ที่สำคัญของอุตสาหกรรมในไทย  โดยการลงทุนอาหารเพื่อสุขภาพได้ตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (Nutra Regenerative Protein) หรือ NRPT ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอินโนบิก และบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ถือหุ้น 100%

สำหรับบริษัท NRPT เป็นจะถือหุ้นร่วมกันระหว่างอินโนบิกและ โนฟ ฟู้ดส์ ฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร โดยตั้งเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจโปรตีนจากพืช ซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพแห่งอนาคตที่จะเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทย รวมทั้งลดภาวะโลกร้อนได้ โดยช่วงแรกได้จำหน่ายอาหารโปรตีนจากพืชที่ร้าน “alt. Eatery” ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 51 และอีกส่วนจำหน่ายในร้าน Texas Chicken

นอกจากเดือน ก.ย.2565 อินโนบิก ได้ร่วมมือกับบริษัท Wicked Kitchen ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าแพลนเบสระดับโลกที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในอังกฤษ ในการเข้ามาเปิดตลาดสินค้า Plant-based ในประเทศไทย โดยเริ่มจากการนำเข้าสินค้าของ Wicked Kitchen กว่า 17 SKU มาวางจำหน่ายใน Top Super Market ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นกว่า 50 สาขา 

สำหรับสินค้าของ Wicked Kitchen ที่จะนำเข้ามาเปิดตลาด Plant-based เช่น พิซซ่า ไอศกรีม และของหวาน ซึ่งมั่นใจว่าจะตอบโจทย์กลุ่มผู้รักสุขภาพ เนื่องจากเป็นอาหารพร้อมทานที่ไม่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลแต่อย่างใด

ปตท.ตั้งโรงงานโกบอลสเกล

นายเกียรติ์กมล ตั้งงานจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท NRPT กล่าวว่า แผนงานต่อไปของ NRPT คือ การตั้งโรงงานผลิตโปรตีนจากพืช ซึ่งถือว่าเป็นโรงงาน Plant-based 100% แห่งแรก เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ที่จะขยายตัวปีละ 12-15% จากตลาดที่มีมูลค่า 9,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ NRPT ได้มีข้อตกลงร่วมทุนกับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ หรือ Plant & Bean (UK) สัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย หรือ Plant & Bean (Thailand)

สำหรับโรงงานจะตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตปีละ 3,000 ตัน ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมสำหรับการทำธุรกิจระดับ Global Scale โดยวางแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกสัดส่วน 40-50% โดยต้นแบบของโรงงานแห่งนี้จะใช้เทคโนโลยีการผลิตจากโรงงานของ Plant & Bean ที่เมืองบอสตัน ประเทศอังกฤษ โดยโรงงานที่ไทยจะเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2565 และจะเดินเครื่องการผลิตได้ไตรมาส 2 ปี 2566

“นอกจากโรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานที่ผลิตเนื้อที่ใช้วัตถุดิบจากพืช 100% แห่งแรกของไทยยังสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชตรงความต้องการตลาดช่วยเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่จะเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน เช่น พืชตระกูลถั่วทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือพืชอื่นที่ใช้ได้ โดยควบคุมคุณภาพไม่ให้มีการปนเปื้อนของพืช GMO และรับซื้อในรูปแบบเดียวกับที่คาเฟ่ อเมซอนได้มีการส่งเสริมและได้รับผลสำเร็จมาก่อนหน้านี้”

“ซีพีเอฟ”เปิดโรงงานปี66

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟได้มีความพร้อมเพื่อรับมือกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ทั้งในส่วนของโปรตีนทางเลือก (Plant-Based) และการผลิตเนื้อจากเซลล์ (Cell based) โดยได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) กับบริษัทชั้นนำของสหรัฐและอิสราเอลหากต้องการขยายการลงทุนมาในเอเชียจะต้องเลือกซีพีเอฟเป็นพันธมิตรในการร่วมลงทุน Cell based

 

“บิ๊กคอร์ป”รุก แพลนท์เบส  ปตท. -ซีพีเอฟ -เบทาโกร พร้อมลุยธุรกิจใหม่

ส่วนแพลนท์เบส ซีพีเอฟได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยดูงานร่วมกับ 5 บริษัทชั้นนำที่ประสบผลสำเร็จในญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศสและไต้หวัน เพื่อเลือกส่วนผสมที่ดีที่สุด และสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร กำลังการผลิตปีละ 12,000 ตัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จกลางปี 2566 ล่าช้าเล็กน้อยจากเดิมที่จะเสร็จในปี 2565 เพราะโควิด-19 โดยจะผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

“ในระยะแรกอาหารจาก Cell based จะมาแรงกว่า Plant-Based เพราะผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับเนื้อสัตว์นั้นการเปลี่ยนไปรับประทานเนื้อเลียนแบบนั้น จะทำให้รู้สึกถึงการเปรียบเทียบและคิดว่า Plant-Based คือพืชและรสชาติอร่อยสู้เนื้อไม่ได้ เมื่อรับประทานไปสักระยะ Cell based จะเป็นทางเลือก และตอบโจทย์ตรงที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ แต่ได้ชิ้นเนื้อที่ตรงกับความต้องการ “

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เทรนด์การรักสุขภาพของผู้บริโภคนั้น เป็นหลักสำคัญที่อุตสาหกรรมอาหารต้องให้ใส่ใจ เพื่อปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการเหล่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะทานน้อยลง ดังนั้น 1 คำที่รับประทานเข้าไปต้องเต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร

ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตของซีพีเอฟจะให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันได้ยกระดับให้มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้นด้วยการเพิ่มวิตามิน กว่า 17 ชนิดให้ไก่กิน โดยเชื่อว่าเมื่อไก่ได้รับสารอาหารที่ดีแล้ว โอกาสการเจ็บป่วยก็จะน้อย เติบโตได้ดี และเนื้อไก่จะมีคุณค่าทางอาหารที่ดีไปด้วย

เบทาโกรจับมือสตาร์ทอัพ

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเยอะมาก โดยหันมาใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอาหารต้องเปลี่ยนตาม เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม แต่พื้นฐานการผลิตที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องคือ คุณภาพและความปลอดภัย

ทั้งนี้ เบทาโกรได้ติดตามเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่ โดยทำการวิจัยร่วมกับสตาร์ทอัพในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับอาหารแห่งอนาคต เช่น โปรตีนทางเลือก อาหารเสริม ซึ่งเทรนด์เหล่านี้เชื่อว่าจะมาแน่นอน โดยจากการวิเคราะห์แนวโน้มการตลาดพบว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกในปี 2030 เทียบกับ 2035 จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 11% ของมูลค่าตลาดโปรตีนโดยรวม ในขณะที่ปริมาณสินค้าจะเพิ่มจาก 65 ล้านตันเป็น 97 ล้านตัน และมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 150,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 290,000 ล้านดอลลาร์

“บิ๊กคอร์ป”รุก แพลนท์เบส  ปตท. -ซีพีเอฟ -เบทาโกร พร้อมลุยธุรกิจใหม่

เบทาโกรสนใจการลงทุนด้านโปรตีนทางเลือกอยู่แล้ว โดยมองว่าเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดแข็ง ที่ตอบโจทย์ของตลาดในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้กลยุทธของเบทาโกรคือ POWERING CHANGE คือสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ เบทาโกรมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) สำหรับการผลิตสุกร ไก่ ไข่ไก่ และปลา พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบจัดการมาตรฐาน รวมถึงได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ของเบทาโกร จากคิวอาร์โค้ดบนฉลากของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจในผลิตภัณฑ์คุณภาพพรีเมียม และมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารสูงสุดของบริษัทฯ ได้มากยิ่งขึ้น

“เบทาโกรนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต โดยเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของกลุ่มเบทาโกร ทั้งการใช้เทคโนโลยี IoT การใช้หุ่นยนต์ โดรน และไบโอเทคโนโลยีในการเกษตร ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตร“

 

“เกษตร”หนุนผลิตวัตถุดิบแพลนท์เบส

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ทิศทงาอาหารแพลนท์เบส เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามมาตลอด และสนับสนุนผ่านงานวิจัยกลุ่มสตาร์ทอัพแต่ยังไม่แพร่หลาย เมื่อเทียบกับภาคเอกชนที่มีความด้านงบลงทุน และมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดมากกว่า

 

ทั้งนี้ พัฒนาการของอาหารโปรตีนทางเลือกในอดีตจะเป็นเต้าหู้เลียนแบบเนื้อสัตว์หรือการแปรรูปเห็ด ซึ่งส่วนใหญ่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคอาหารเจและมังสวิรัติ แต่ปัจจุบันภาคเอกชนก้าวหน้าไปมากเป็นโปรตีนทางเลือกให้ชงดื่ม โรยหน้าอาหาร แต่งกลิ่นปรุงรส เปลี่ยนรูปลักษณ์ ให้เป็นที่สนใจและรับประทานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนการผลิตวัตถุดิบ ซึ่งพืชหลักที่นิยม คือ พืชตระกูลถั่วและเห็ด โดยส่งเสริมเกษตรกรปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว อยู่แล้วให้ขยายพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มผลผลิตต่อไรให้สูงขึ้นซึ่งในส่วนของไทยที่มีความหลายของพืชต่างๆ และเกษตรกรก็มีศักยภาพ จึงมีความพร้อมจะผลิตวัตถุดิบป้อนให้โรงงาน

“กระทรวงเกษตรฯต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรเรื่องมาตรฐานการผลิต เพราะไทยมีศักยภาพมาที่จะเป็นศูนย์กลางของการผลิตอาหาร และเป็นครัวของโลก แต่การผลิตต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ ในขณะที่ต้องพัฒนาต่อยอดงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ภาครัฐยังออกตัวช้าเรื่องแพลนต์เบสด์ แต่พร้อมจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างแน่นอน“

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า กระแสรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรงทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าอาหารแพลนท์เบสเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโอกาสของไทยเนื่องจากไทยมีศักภาพตั้งแต่ต้นน้ำไปปลายน้ำ และมีความร่วมมือผลักดันของภาครัฐและเอกชน 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางของสินค้าแพลนท์เบส หรือ เจฮับ ซึ่งเป็นโอกาสของเกษตรกร ภาคเศรษฐกิจและการส่งออก โดยทำให้เกษตรกรยกระดับรายได้ที่ยั่งยืนจากการปลูกพืชผลทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ธัญพืช สาหร่าย เห็ด ผัก ผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ เพื่อเป็นเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าแพลท์เบส ที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลกได้ และอาจต่อยอดผลิตแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ โดยสินค้าแพลนท์เบสเป็นสินค้าที่รายเล็กและรายใหญ่เข้ามาแข่งขัน

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สินค้าโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มความต้องการตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีมูลค่าตลาดราว 4.56 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าจะโตเฉลี่ยต่อปี 21% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในตลาดการส่งออกแพลนท์เบสของไทย ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า 5 เดือนแรกมีโปรตีนทางเลือกจากพืช มีมูลค่าการส่งออกราว 628.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.5% ดังนั้นทั้งปีคาดว่ามีมูลค่า 1,500 ดอลลาร์