กนอ.-บีโอไอเร่งดึงญี่ปุ่น ขยายฐานผลิตลงทุน “อีอีซี”

กนอ.-บีโอไอเร่งดึงญี่ปุ่น ขยายฐานผลิตลงทุน “อีอีซี”

ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุน ทำให้ภูมิภาค “อาเซียน” มีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะไทยที่ได้เปรียบด้วยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาค

ที่ผ่านมาไทยมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุดทั้งยังเป็นแกนหลักของห่วงโซ่อุปทานบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากสถิติการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2564 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งรวมทั้งเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดเช่นกัน โดยมีจำนวนขอรับการส่งเสริม 178 โครงการ คิดเป็น 23% ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดและมีมูลค่าการลงทุน 80,733 ล้านบาท

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด ได้แก่ เคมีภัณฑ์และกระดาษ รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การบริการ อุตสาหกรรมเบา/สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ในขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีจำนวนยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด 97 โครงการ คิดเป็น 25% ของโครงการต่างชาติทั้งหมด แต่มีมูลค่าการลงทุนเป็นลำดับที่สองรองจากไต้หวัน อยู่ที่16,932 ล้านบาท

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กนอ. ได้ร่วมโรดโชว์กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสนใจในประเทศไทยและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนอยางต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ที่ตั้งยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุนการส่งอออก ความมั่นคงแรงงาน ระบบคมนาคม รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้ ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Printed Circuit Board (PCB) สำหรับใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเป็นลูกค้าเดิมที่มีบริษัทตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่แล้ว ซึ่งล่าสุดตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มเติม มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อย้ายฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดมาตั้งในไทยซึ่งจะเป็นแกนหลักของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน กนอ.-บีโอไอเร่งดึงญี่ปุ่น ขยายฐานผลิตลงทุน “อีอีซี”

“การตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นราว 20-30% จากที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าจะเป็นเพียงการย้ายเทคโนโลยีมาบางส่วน แต่เนื่องจากบริษัทได้รับดีมานต์คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีสภาวะซบเซาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงต้องเร่งขยายโรงงาน โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในปี 2566 และเริ่มเดินเครื่องผลิตในอีก 2 ปีข้างหน้า”

ขณะเดียวกัน บีโอไอยังได้เสนอสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ดึงดูดมากขึ้น อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การให้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินสำหรับผู้บริหารระดับสูง รวมถึงสิทธิสำหรับผู้ติดตามสามารถทำงานในไทยได้ ซึ่งขณะนี้บีโอไอกำลังอยู่ระหว่างการปรับแผนสิทธิประโยชน์ที่จะสร้างแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ กนอ.ยังได้พบปะกับสมาคมผู้ผลิตอาหารและเครื่องจักรที่ใช้ผลิตอาหารของญี่ปุ่น ซึ่งมีความสนใจที่จะไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่เป็นแหล่งรวมการผลิตอาหารอยู่แล้ว เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น