เปิดข้อกฎหมาย “ทรัพย์สินทางปัญญา” เหมือนกันแค่ไหน ถึงเรียกว่า “เลียนแบบ” ?

เปิดข้อกฎหมาย “ทรัพย์สินทางปัญญา” เหมือนกันแค่ไหน ถึงเรียกว่า “เลียนแบบ” ?

ส่องข้อกฎหมายจากประเด็นสินค้า H&M ที่เข้าข่ายเลียนแบบกระเป๋าแบรนด์ไฮเอนด์ จนถูกตั้งคำถามว่าละเมิดกฎหมายด้าน “ทรัพย์สินทางปัญญา” หรือไม่ อันที่จริงแล้ว ผลิตภัณฑ์สามารถเหมือนกันแค่ไหนถึงเข้าข่าย “เลียนแบบ”?

เมื่อไม่นานนี้ หนึ่งในประเด็นที่ตกเป็นกระแสในโลกโชเชียลคงหนีไม่พ้น กระเป๋าคอลเลคชั่นใหม่ของแบรนด์ “H&M” ที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับกระเป๋าของแบรนด์ไฮเอนด์อย่าง “Dior”, “Chanel”, “Botega Veneta” และอื่นๆ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของการวางขายสินค้าที่อาจเข้าข่ายลอกเลียนแบบเช่นนี้   

อย่างไรก็ตาม H&M ถือว่าเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียง และได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อจำนวนมากในหลายประเทศ ทำให้ยิ่งน่าฉงนใจว่า เหตุใดกระเป๋าคอลเลคชั่นที่ตกเป็นประเด็นเช่นนี้ถูกนำมาวางขาย เพราะแบรนด์ต้นทางดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองสิทธิทางปัญหา ซึ่งจะมีผลให้การวางขายสินค้าที่เข้าข่ายลอกเลียนแบบสามารถถูกเอาผิดทางกฎหมายได้  

เว้นเสียแต่ว่า การวางขายสินค้าที่คล้ายกับแบรนด์ไฮเอนด์ของ H&M ไม่สามารถเอาผิดทางได้แต่อย่างใด จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ลักษณะภายนอกของของสินค้าแฟชั่นอย่าง เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือเครื่องประดับต่างๆ นั้นต้องเป็นอย่างไรถึงจะได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แล้วผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตอื่นสามารถเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองฯ ได้แค่ไหน ถึงจะไม่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 

 

  •   งานออกแบบสินค้าแฟชั่น เข้าเกณฑ์ถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายใดบ้าง?  

กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา มักถูกบังคับใช้เฉพาะประเทศหรือกลุ่มประเทศหนึ่ง เช่นแบรนด์ไฮเอนด์ส่วนใหญ่ที่มาจากประเทศในสหภาพยุโรป งานออกแบบแฟชั่นที่ตกเป็นประเด็นจึงคาดว่าจะอยู่ในความคุ้มครองของ Council Regulation 6/2002 of 12 December 2001 on Community design 

กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองไว้ว่า งานออกแบบแฟชั่น “ต้องมีความใหม่” และ “มีลักษณะเฉพาะตัว” ซึ่งต้องไม่ใช่งานออกแบบเพื่อการปฏิบัติทางด้านเทคนิค เช่น การผลิต โดยการขอรับความคุ้มครองจะเกิดขึ้นจากการจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ 

ขยายความจากคุณสมบัติการได้รับความคุ้มครองจากข้างต้น คำนิยามของความใหม่ หมายถึง รูปลักษณ์ที่ไม่เคยปรากฎให้เห็นในที่ใดมาก่อน แม้เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพียงเล็กน้อยก็จะไม่ถือว่า งานออกแบบนั้นเป็นสิ่งใหม่ และคำนิยามของความเฉพาะตัวของสินค้า หมายถึง งานออกแบบที่ทำให้รับรู้ได้ถึงความแตกต่างจากรูปลักษณ์ของสินค้าที่เคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนออกมาก่อนหน้าแล้ว โดยรูปลักษณ์ของสินค้าครอบคลุมถึง สี พื้นผิว ลายเส้น รูปทรง โครงสร้าง วัสดุของผลิตภัณฑ์ และการตกแต่งของผลิตภัณฑ์ 

ถึงกระนั้น ในทางกฎหมายจะต้องมีความละเอียดในการตีความลักษณะของสินค้าที่เข้าข่ายว่ามีความผิดด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น รูปลักษณ์ของสินค้าดังกล่าวมีความใหม่จริงหรือไม่ หรือเป็นสิ่งที่ได้รับการดัดแปลงมาจากสินค้าที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น ลวดลาย และ/หรือสินค้าที่เข้าข่ายว่าลอกเลียนแบบนั้นได้คัดลอกความเฉพาะตัวของสินค้าอื่นจนเกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวไป จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทางกฎหมาย ก่อนจะนำไปสู่การตัดสินว่าผู้ผลิตสินค้าที่มีความคล้ายคลึงกันนั้น กระทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ 

นอกจากนี้ กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญามักบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ เว้นเสียแต่จะมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ ถึงจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาไปในทางเดียวกัน แต่สำหรับผลงานบางประเภท เช่น เครื่องหมายทางการค้า และงานออกแบบผลิตภัณฑ์  ผู้ผลิตหรือออกแบบผลงาน ยังจำเป็นต้องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตอยู่ในประเทศที่ไม่เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว การเอาผิดก็อาจจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ อาจไม่สอดคล้องกับประเทศของผู้ผลิตผลงานต้นทาง หรือแม้แต่หลักสากลที่นานาประเทศตกลงร่วมกันแล้วก็ตาม  

----------------------------------------------

อ้างอิง

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ , สุรัฐกิจ กิตติธัชสุข