รับมือกติกาโลกใหม่ โลกร้อน-สินทรัพย์ดิจิทัล

รับมือกติกาโลกใหม่ โลกร้อน-สินทรัพย์ดิจิทัล

เมกะเทรนด์ของโลกเกี่ยวกับ "โลกร้อน" และ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบรองรับเมกะเทรนด์นี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและไม่ตกขบวน

ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เห็นความเปลี่ยนของโลกมากขึ้นและนำมาสู่ภาวะปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มอล ซึ่งทำให้หลายเรื่องเกิดเป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งทำให้อีคอมเมิร์ซขยายตัวแบบก้าวกระโดด และทำให้หลายธุรกิจในประเทศไทยเติบโตตามไปด้วย เช่น การขนส่งสินค้า รวมทั้งเป็นตัวเร่งในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และเกิดการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างมโหฬาร

สถานการณ์ดังกล่าวเอื้อต่อการเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทั่วโลกเปิดรับการทำธุรกรรมหรือการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบบล็อกเชนเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีผู้คาดการณ์ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจโลกที่อาจมาทดแทนสินทรัพย์ดั้งเดิม แต่จุดอ่อนของสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่เสถียรภาพของตัวสินทรัพย์ จึงทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะที่ผันผวนสูง และแน่นอนว่าปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งอาจจำเป็นต้องสร้างกติกาขึ้นมารับมือ

กติกาใหม่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ คือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยไทยออกพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การซื้อขายข้อมูลซึ่งบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.2565 เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะทำให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิในข้อมูลส่วนตัวที่ถูกจัดเก็บไปแล้วหรือกำลังถูกจัดเก็บมากขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวให้เจ้าของข้อมูล

ในขณะที่เมกะเทรนด์อีกตัวที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงบนโลก คือ เน็ตซีโร่ โดยภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปสู่ “เน็ตซีโร่” ซึ่งสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2566 และบังคับใช้เต็มรูปแบบปี 2569 ซึ่งจะเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนสินค้านำเข้า 5 ชนิด ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ยและพลังงานไฟฟ้า

เมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบรองรับเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งในแต่ละประเด็นจำเป็นที่จะต้องใช้ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและไม่ตกขบวน และที่สำคัญรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายดูแลบริหารจัดการให้ชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศทั้งการรับมือกับเน็ตซีโร่ สินทรัพย์ดิจิทัลและภัยไซเบอร์