เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย กับทฤษฎีโลกสวย | บัณฑิต นิจถาวร
หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ผมได้รับคําถามจากสื่อมวลชนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพียงพอหรือไม่กับปัญหาเงินเฟ้อที่รออยู่ข้างหน้า วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องปรับขึ้น เพราะวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยโลกขณะนี้เป็นขาขึ้นและอัตราเงินเฟ้อในประเทศเราก็สูง ล่าสุดเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.6
นอกจากนี้การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกร้อยละ 0.75 ของธนาคารกลางสหรัฐปลายเดือนที่แล้วก็ทําให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยยิ่งกว้างขึ้น จูงใจให้เงินทุนไหลออก กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าและเป็นผลให้ทุนสํารองระหว่างประเทศลดลง ถ้าทางการต้องเข้าไปดูแลความผันผวน
สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนของการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กดดันให้แบงก์ชาติในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ที่พันธกิจหลักคือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต้องทำหน้าที่ คือขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เราจึงเห็น กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในการประชุมคราวล่าสุดหลังจากได้ประวิงมานาน ด้วยเหตุผลต้องการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ต่อคําถามว่าทำไมเสียงส่วนใหญ่ใน กนง.(หกจากเจ็ด)ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25 ผมว่าคําตอบมีชัดเจนในใบแถลงข่าวของ กนง.เผยแพร่หลังการประชุม ซึ่งมีประเด็นสำคัญสามเรื่อง
1. กนง. มองว่าเศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวแล้ว ขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าที่คาด หลังการผ่อนคลายมาตรการ การบริโภคในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและรายได้ และการเติบโตของการส่งออก (ซึ่งประเด็นหลังนี้ กนง.ไม่ได้พูดถึงในการแถลงข่าว)
การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นทําให้ความจำเป็นที่เศรษฐกิจต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่ามากเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจึงมีน้อยลง และมองว่าการฟื้นตัวจะเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ
2. อัตราเงินเฟ้อจะยังสูงในช่วงนี้ถึงสิ้นปี เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจมีอยู่มากและจะส่งผ่านออกมาในรูปของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะสูงขึ้นในเดือนต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม กนง.มองว่า ณ จุดนี้อัตราเงินเฟ้อระยะปานกลางที่คาดการณ์โดยภาคธุรกิจและประชาชนยังไม่ได้ขยับสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ แต่ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม
3. กนง.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากนี้ไปและกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศ วัดโดยจีดีพีแท้จริง จะเพิ่มขึ้นถึงระดับเฉลี่ยก่อนโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้และฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า ขณะที่ กนง.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสสามปีนี้ จากนั้นก็จะเริ่มลดลงกลับสู่ระดับที่เป็นอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในปีหน้าตามสถานการณ์อุปทานโลกที่จะคลี่คลาย
ข้อสรุปทั้งสามข้อนี้คือเหตุผลที่ขีดเส้นใต้ว่าทำไมกรรมการ กนง.ส่วนใหญ่เลือกที่จะให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25 ในการประชุมอาทิตย์ที่แล้วซึ่งเป็นโดสต่ำสุดถ้าเทียบเป็นการให้ยารักษาโรค
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ และคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวจะเข็มแข้งจนเศรษฐกิจสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่ที่สำคัญสุดคือ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีและจะลดลงต่อเนื่องในปีหน้า
ดังนั้นเมื่อประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศจากนี้ไปจะเป็นขาลง ความจําเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อจึงไม่มีหรือมีน้อยลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ที่เกิดขึ้นและที่จะมีต่อไป จริงๆก็คือการเดินทางกลับจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่เป็นระดับปรกติที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ
นี่คือวิธีคิด เหตุผล และการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
คําถามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ตั้งหลังผลการประชุมและการแถลงข่าวคือ กนง.มองโลกสวยเกินไปหรือไม่ ที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวถึงระดับก่อนโควิดภายในสิ้นปีนี้
ทั้งที่จํานวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว อย่างมากก็เฉลี่ยเดือนละล้านคนจากนี้ไป เทียบกับ 40 ล้านคนต่อปีก่อนโควิด อัตราการว่างงานที่รวมการทำงานตํ่ากว่าระดับที่ยังมีมากถึงเกือบสามล้านคนขณะนี้ และความเป็นอยู่และความรู้สึกของธุรกิจจํานวนมากและคนส่วนใหญที่สถานการณ์เศรษฐกิจยังลําบาก
ที่สำคัญ การคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะลดลงในไตรมาสสี่นั้นเป็นไปได้แค่ไหน เมื่อราคานํ้ามันโลกจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังมีมากสะท้อนจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและดัชนีราคาผู้ผลิตที่อยู่ในเกณฑ์สูง และค่าจ้างขั้นต่ำและค่าไฟฟ้าที่จะปรับสูงขึ้นในเดือนกันยายน
สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกับสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองโลกและภาวะอุปทานในเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่นิ่ง การคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงจึงอาจดูเร็วเกินไป
สรุปคือ การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในไตรมาสสี่ปีนี้เป็นข้อสมมติที่ กนง.ใช้ในการกำหนดนโยบาย นำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 อย่างที่เห็น
ซึ่งต้องถือว่าเป็น best case scenario และถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะดีมากๆ ต่อเศรษฐกิจ แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น กลายเป็นข้อสมมติที่กล้าหาญเกินไป การทํานโยบายก็จะผิดพลาดเพราะมองโลกดีเกินไป
ที่หวังคือ เราจะเห็น best case scenario เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรมีแผนสองเตรียมไว้ เพราะการทํานโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วก็คือการบริหารความเสี่ยงให้กับประเทศ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล