'เอกชน' เร่งปรับตัวรับ 'ค่าแรงใหม่' ขอรัฐเลื่อนเวลาปรับเพิ่ม เดือน ม.ค. 66

'เอกชน' เร่งปรับตัวรับ 'ค่าแรงใหม่' ขอรัฐเลื่อนเวลาปรับเพิ่ม เดือน ม.ค. 66

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบ 2 ปี ด้านเอกชนเร่งปรับตัวรับภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น ขอรัฐเลื่อนปรับเวลาตามข้อตกลงเดิม เริ่มปรับ เดือน ม.ค. 2566

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมยังกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อที่ประเมินว่าตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 6% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1-3% ซึ่งภาวะเงินเฟ้อในไทยมีสาเหตุจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบนำเข้า และค่าเงินบาทอ่อน นำไปสู่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่มีการเสนอเพดานอยู่ที่ 5-8% 

"ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต้องเห็นใจทุกฝ่าย ซึ่งนำไปสู่การที่ภาครัฐเริ่มคุยเรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง อยู่บนพื้นฐานของข้อตกลง ตามค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมทั้งคำนึงถึงการฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีหลังผ่านวิกฤติโควิดและภาวะเงินเฟ้อปัจจุบัน"

ทั้งนี้ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นราว 2-5% ต่างกันตามสัดส่วนแรงงาน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมาก อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้ระบบออโตเมชั่น หรือใช้เครืองจักรเป็นส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันไป

"กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีการใช้แรงงานในสัดส่วนสูงนั้น ยังได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะการขาดแคลนอาหารทั่วโลกที่คาดว่าจะยิ่งรุนแรงขึ้นในปีนี้"

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามข้อตกลงเดิม คือ เริ่มปรับขึ้นในเดือน ม.ค. 2566 เพื่อให้ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังรับมือกับต้นทุนอื่นๆ ที่ได้ปรับขึ้นไปแล้ว ทั้ง ราคาพลังงาน วัตถุดิบและค่าขนส่ง 

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ธุรกิจเข้าใจว่าอัตราค่าแรงจำเป็นต้องขยับขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีการจ้างแรงงานในอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังคงกังวลถึงผลกระทบเชิงจิตวิทยา เพราะการที่ค่าแรงปรับขึ้น คนที่ได้ประโยชน์จริงคือ แรงงานต่างด้าว อีกทั้งสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน ภาคธุรกิจบริการยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ทำให้ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว ก็ยิ่งผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานต่างด้าวสูงขึ้น รวมถึงค่าแรงของคนไทยก็จะต้องขยับให้สูงขึ้นกว่าค่าแรงงานต่างด้าวอีก