ผู้ว่าการ ธปท.ยันไม่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นกระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว

ผู้ว่าการ ธปท.ยันไม่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นกระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยันไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ประเมินกว่าเศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวก่อนโควิดระบาด ต้องรอช่วงปลายปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ส.ค.) เฟซบุ๊ก JKN-CNBC  เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าไม่จำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมากเนื่องจาก กว่าที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดก็จะเป็นในช่วงปลายปี

เมื่อวันพุธ (10 ส.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 ในอัตรา 0.25% เป็น 0.75% เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ CNBC วันนี้ ว่าการปรับขึ้น 0.25% เป็น 0.75% เป็นแนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากประเทศอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง 

 

ในขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น และในอัตราที่เร็วขึ้น แต่วิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป และวัดผลได้ของไทย จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศจะดำเนินต่อไปไม่สะดุด  

 

"เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกำลังมองหาทางลงอย่างนุ่มนวล แต่เรากำลังพยายามทำให้การฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น"

ธปท.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดปี 2022 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงสู่ช่วงเป้าหมายในปี 2023 เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อด้านอุปทานบรรเทาลง

อัตราเงินเฟ้อของประเทศแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ 7.66% ในเดือนมิถุนายน แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคมที่ 7.61% แต่ก็ยังเหนือเป้าหมายที่ 1-3% ของธนาคารกลาง

“อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างสูง” ผู้ว่าฯ ธปท.เศรษฐพุฒิ กล่าว “แต่เราไม่เห็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากอุปสงค์แต่อย่างใด ทั้งหมดได้รับแรงหนุนจากด้านอุปทาน”

เขากล่าวว่า ธนาคารกลางคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในช่วงไตรมาสที่สาม ธนาคาร Barclays เห็นคล้ายๆ กันโดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะสูงสุดในเดือนสิงหาคม

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และน่าจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุม Covid-19 และการยกเว้นข้อกำหนดวีซ่า

“ก่อนโควิด เรามีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เดินทางมาประเทศไทย ปีที่แล้วเรามี 400,000 คน การฟื้นตัวของเราส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวขึ้นของภาคการท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ธนาคารกลางคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยว 8 ล้านคนในปีนี้“

เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องด้วยโมเมนตัมที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เนื่องมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากกว่าที่คาดไว้ ภายหลังการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และความมั่นใจในการเดินทางที่ดีขึ้น” 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์