“หุ้นกู้” ฟีเวอร์ ธุรกิจเร่งระดมทุน รับดอกเบี้ยขาขึ้น

“หุ้นกู้” ฟีเวอร์ ธุรกิจเร่งระดมทุน รับดอกเบี้ยขาขึ้น

ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลโดยตรงกับต้นทุนธุรกิจ นำมาสู่การเร่งระดมเงินทุนในตลาดหุ้นกู้สูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อล็อกต้นทุน ลดความเสี่ยงจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อที่ส่อแววยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ยังผลไปยังต้นทุนค่าครองชีพและการดำเนินการของธุรกิจด้วย 

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ประเทศและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง สหรัฐ สหภาพยุโรป แคนาดา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น ต่างพาเหรดกันขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นที่เรียบร้อย เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง อาทิ สหรัฐที่เผชิญกับตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทุบสถิติในรอบ 40 ปี เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักร ขณะที่สหภาพยุโรปต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแตะ 8.6% ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา 

การขึ้นดอกเบี้ยของประเทศดังกล่าว มีผลให้ดอกเบี้ยนโยบายระดับโลกอยู่อยู่ในทิศทางขาขึ้น  ประเทศขนาดเล็กจึงต้องเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน หรือภาวะการอ่อนค่าของเงินที่รุนแรง เป็นผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องพิจารณาปรับดอกเบี้ยตามไปด้วย

 

  •   ไทยอาจต้องขึ้นดอกเบี้ย เร่งธุรกิจไทยระดมเงินทุนผ่านตลาดหุ้นกู้  

ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี นับเป็นตัวเลข “ต่ำสุด” ในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสงคราม ได้มีผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนในไทยพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี 

อีกทั้งทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับโลกก็มีผลให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะการอ่อนค่าของเงินบาทรุนแรงสุดในรอบ 16 ปี ทั้งหมดจึงมีผลให้นักวิเคราะห์จากหลายฝ่ายให้ความเห็นว่า ไทยอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของเหลือของปีนี้ และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว นับเป็นการปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary Policy Normalization) หลังจากการลดอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ระดับที่ต่ำสุดครั้งประวัติศาสตร์ และต่ำสุดหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะไม่ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงต่อภาวะถดถอยอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐ 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น มีผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจนั้นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสามารถส่งผลเสียถึงเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยก็ได้มีการตอบสนองต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น สะท้อนจากผลคาดการณ์โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยว่า ยอดหุ้นกู้ใหม่ในปีนี้อาจทะลุ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

เหตุการณ์ข้างต้นเป็นผลมาจากเร่งปรับ “โครงสร้างอัตราดอกเบี้ย”  เพราะหากธุรกิจมีการระดมทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจจากสถาบันการเงิน  โครงสร้างดอกเบี้ยของธุรกิจส่วนใหญ่มักเป็น “อัตราดอกเบี้ยลอยตัว” ซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า “อัตราดอกเบี้ยคงที่” ที่มาจากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ 

การเร่งออกหุ้นกู้ของภาคธุรกิจจึงนับเป็นการ “ล็อกต้นทุน” อัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ต้องการ และแม้ว่านับตั้งแต่ต้นปี อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้จะปรับตัวขึ้นไปราว 0.8-1.1% แล้ว แต่การล็อกต้นทุนไว้สามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยที่เหนือความคาดการณ์ได้ 

  •   ตัวอย่างการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากหุ้นกู้ ระหว่างปี 64 และ 65  

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) / ตัวย่อ : CPF 

หุ้นกู้ที่เสนอขายในปี 64 

อันดับความน่าเชื่อถือ : A+ 

ระยะเวลาไถ่ถอน : 7 ปี 

อัตราดอกเบี้ย : 3.15% ต่อปี 

ผู้ลงทุน : ทั่วไป 

- หุ้นกู้ที่เสนอขายในปี 65 

อันดับความน่าเชื่อถือ : A+

ระยะเวลาไถ่ถอน : 6 ปี 

อัตราดอกเบี้ย : 3.15% ต่อปี 

ผู้ลงทุน : ทั่วไป/สถาบัน  

จากตัวอย่างการเสนอขายหุ้นกู้ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ระหว่างปี 64 และ 65 พบว่า อัตราผลตอบแทนจากการถือหุ้นกู้ที่ออกในปี 65 นี้ จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าในปี 64 

แม้ว่าจากตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้จะเท่ากันทั้ง 2 ปี แต่หากพิจารณาจากอายุของหุ้นกู้ จะพบว่า หุ้นกู้ในปี 65 นั้นมีความเสี่ยงต่ำกว่า เนื่องจากมีอายุไถ่ถอนสั้นกว่า ทำให้อัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่ได้รับจากการถือหุ้นกู้ที่เสนอขายในปี 2565 นั้นสูงกว่า สะท้อนต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นในปีนี้ 

---------------------------------------------

อ้างอิง

ดอน นาครทรรพ 

PPTV Online