รับมือ "ดอกเบี้ย" ขาขึ้น

รับมือ "ดอกเบี้ย" ขาขึ้น

การปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ควรขยับขึ้นสูงมาก เพราะอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อในไทย ไม่ได้เกิดจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น แต่มาจากต้นทุนการผลิต (ราคาน้ำมัน) ที่สูงขึ้น ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงให้ผลบวกมากกว่าผลลบ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ 10 ส.ค. 65 ถือเป็น “นัดสำคัญ” ในการพิจารณาทิศทางอัตรา "ดอกเบี้ยนโยบาย" เพื่อสกัดความร้อนแรงของ "เงินเฟ้อ"  ที่เดือน ก.ค. 65 พุ่งไปถึง 7.61% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นตามทิศทางของเงินเฟ้อโลก ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินในการรับมือ แต่เมื่อเข้าสู่เดือน ส.ค. 65 ก็ถือว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันลดความร้อนแรงลงพอสมควรตามภาวะของสงคราม ทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่ต้องขยับมากนัก เพื่อเปิดช่องให้เศรษฐกิจได้ขยายตัว ในภาวะที่เริ่มวิตกกันแล้ว โลกกำลังเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัวหรืออาจจะถึงขั้นถดถอย 

โดยล่าสุด ไอเอ็มเอฟมองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวอย่างมากในปีนี้ และปี 2566 อาจจะเรียกว่าปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง แต่ถึงกระนั้น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในไทยยังต้องเผชิญอีกหลายรอบ หากเราหันมาเน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็จะสามารถรับมือได้ทุกช่วงของภาวการณ์ 

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้หลายฝ่ายมองว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ควรขยับขึ้นสูงมาก เช่น กรณีของ "พรรคไทยสร้างไทย" ออกเอกสารแถลงการณ์ เห็นว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอยู่ในขณะนี้ 

เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงในไทย ไม่ได้เกิดจากเงินเฟ้อที่เกิดจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น หรือ Demand-pull แต่เป็นเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือ Cost-Push เนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น

ดังนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงมีผลบวกมากกว่าผลลบ แม้ว่าจะมีผลกระทบกับค่าเงินบาททำให้อ่อนค่าลงบ้าง แต่จะช่วยทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้า การบริการ และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สิ่งที่ กนง. ควรจะทำก็คือ การตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือถ้าจำเป็นต้องขึ้นก็ขอให้ขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยที่สุด ไม่ควรเกิน 0.25%

แต่หากมองในมุมของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ระบุว่า หากดูเงินเฟ้อปัจจุบันจากตัวเลขอย่างเป็นทางการทั้งเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งเงินเฟ้อที่ยืนระดับสูงครั้งนี้ถือว่ากินเวลายาวนานกว่าที่เคยคิดไว้ จากเดิมเมื่อต้นปีที่เคยมองว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อระดับสูงดังกล่าวอาจอยู่กับเรานานกว่าที่คิดไว้

ดังนั้น เรื่องเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราวหรือระยะสั้นๆ แน่นอน อีกทั้ง ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า มองว่าจะมาจากทั้งปัจจัยอุปสงค์และอุปทาน จากราคาน้ำมันแพง และจากการเปิดประเทศ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น เหล่านี้จะมีส่วนหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้  ซึ่งหากพิจารณาในมุมนี้ เราต้องอยู่กับอัตราเงินเฟ้อสูงอีกระยะหนึ่ง ซึ่งนั่นจะมาพร้อมกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องปรับตัวรับมือ “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” ให้ได้