“หอการค้าไทย” จับตาผลกระทบโลจิสติกส์ หวั่นผลกระทบปมไต้หวัน

“หอการค้าไทย” จับตาผลกระทบโลจิสติกส์ หวั่นผลกระทบปมไต้หวัน

หอการค้าไทย ชี้ แม้สถานการณ์ความขัดแย้งจีน-ไต้หวันกระทบเศรษฐกิจ แต่ไทยมีโอกาสการค้าการลงทุนเพิ่มจากสถานการณ์จีน-ไต้หวัน จากการส่งสินค้าทดแทน จับตาปิดโลจิสติกส์กระทบขนส่งสินค้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศจีน ไต้หวันและสหรัฐมีผลกระทบเชิงการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะไต้หวันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่จีนทำมาตรการต่างๆเช่นไม่นำสินค้าจากไต้หวันเข้าประเทศการเก็บภาษีต่างๆปัญหาซัพพลายเชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ส่งวัตถุดิบทรายไปไต้หวัดจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างในไต้หวัน รวมทั้งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมตามมา

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐซึ่งจีนได้ตอบโต้ด้วยการยกเลิกความร่วมมือกับสหรัฐเช่นสิ่งแวดล้อมภาวะโลกร้อนสินค้าต่างๆเกี่ยวกับอุปโภค-บริโภคที่จะส่งไปสหรัฐอาจทำให้สหรัฐเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้สูงอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมากยิ่งขึ้น

 

นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับไทยที่มีจุดยืนชัดเจนว่าเป็นประเทศที่เป็นกลางและไม่อยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซึ่งอยากเห็นความสงบสุขทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามจีนถือเป็นคู่ค้าสำคัญเมื่อมีการจำกัดสินค้านำเข้าจากไต้หวันอาจเป็นโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าไต้หวันในจีน รวมทั้งการลงทุนด้วยที่จีนจะหันมาลงทุนในไทยเพิ่ม โดยปัจจุบันการลงทุนของจีนในไทยอยู่ในในอันดับ6และน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันซึ่งมองว่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจากจีนจะเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่ม

“เศรษฐกิจที่เกิดภาวะปัญหาซ้อนกันจนเกิดเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติแต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่กระทบโดยตรงและแรงเกินไปสำหรับประเทศไทย เพราะเรายังมีตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งคือการท่องเที่ยวที่ขณะนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้นก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 จะดีขึ้นต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2565 และจีดีพีจะเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 3% เป็นภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า สถานการณ์ความตึงเครียดไต้หวันกับจีน ซึ่งจีนกดดันไต้หวันเรื่องนำเข้าส่งออกที่สำคัญ และไต้หวันมีธุรกิจหลักคือผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบคือทรายที่จีนงดส่งออกไปไต้หวัน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการใช้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่ไฟฟ้ารถยนต์ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ รถไฟฟ้า เรือเครื่องบิน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอนาคต ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยด้วยเพราะไทยมีการส่งออก สินค้าในกลุ่มที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ค่อนข้างมากหากขาดแคลน Supply อาจจะเกิดการชะงัก ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ของไทย และเศรษฐกิจไทย

ส่วนสินค้าเกษตรอาหารจากไต้หวันเข้าจีนเป็นฐานเสียงของใต้หวัน ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก ในทางกลับกันจะส่งผลดีกับไทยที่จะส่งสินค้าด้านอาหารไปทดแทนในตลาดจีนได้ เนื่องจากจีนใช้มาตรการทางเศรษฐกิจสั่งแบนห้ามนำเข้าสินเข้าจาก ไต้หวัน จำนวนมากกว่า 2,000 ชนิด จากทั้งหมด 3,200ชนิด กว่า 100 แบรนด์ ซึ่งการสั่งแบนดังกล่าวครอบคลุมสินค้าถึง 35 ประเภท เช่น ปลาและอาหารทะเล น้ำมันปรุงอาหาร บิสกิตและเค้ก โดยสินค้าที่ไต้หวันส่งออกไปจีนมากได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เซมิคอนดัคเตอร์ เครื่องจักรบอยเลอร์ สินค้าพลาสติกทองแดง อาหารบางชนิด เช่น เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป แป้งพาสทรี ขนมปัง ชากาแฟเครื่องเทศ ผลไม้ อาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปประเทศจีน

"ไทยอาจจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างแต้มต่อทางการค้าและแย่งชิงส่วนแบ่งทางตลาดได้เพิ่ม อย่างไรก็ตาม เราต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ เช่น การปิดท่าเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าของไทย" นายวิศิษฐ์ เสริม