‘เอกชน’ล็อกต้นทุน รับมือ 'ดอกเบี้ยพุ่ง' หุ้นกู้ทะลุ 7 แสนล้านบาท

‘เอกชน’ล็อกต้นทุน รับมือ 'ดอกเบี้ยพุ่ง'  หุ้นกู้ทะลุ 7 แสนล้านบาท

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผย 7 เดือนแรกปีนี้ “เอกชน” เร่งออกหุ้นกู้ หวังล็อกต้นทุนหนีดอกเบี้ยขาขึ้น 7.41 แสนล้านบาท ชี้ช่วงที่เหลือปีนี้คาดยังขอยื่นไฟลิ่งต่อเนื่อง สอดคล้องมีรอขาย - รออนุมัติถึง 1.14 แสนล้านบาท นำทีมโดย GULF-CPF-SCC มั่นใจทั้งปี 65 ยอดออกลุ้นแตะ 1.2 ล้านล้านบาท

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า มูลค่าการออกหุ้นกู้ของเอกชนช่วง 7 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 741,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 612,216 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 72% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2564 อยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท โดยเชื่อมั่นมูลค่าการออกหุ้นกู้ของเอกชนทั้งปี 2565 อาจจะทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท  ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 หรืออาจมีโอกาสเพิ่มไปแตะระดับ 1.2 ล้านล้านบาท ตามที่ได้คาดการณ์ไว้   

สำหรับ แนวโน้มในช่วงที่เหลือปีนี้คาดยังคงเห็นผู้ออก (Issuer) ยื่นไฟลิ่ง (filing) ขอออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มการฟื้นที่ดี และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยมากนัก 

 

สอดรับในช่วง 7 เดือนปีนี้ (ม.ค.- ก.ค.) มีมูลค่าหุ้นกู้ที่อนุมัติแล้ว และรอการเสนอขาย 54,000 ล้านบาท จำนวน นำโดย  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มูลค่า 15,000 ล้านบาท และ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มูลค่า 11,000 ล้านบาท เป็นต้น และยังอยู่ระหว่างรออนุมัติอีก 60,000 ล้านบาท นำโดย GULF มูลค่า 23,000 ล้านบาท , บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC มูลค่า 15,000 ล้านบาท

สะท้อนการคาดการณ์ของผู้ออกต่ออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในตลาดทำให้ผู้ออกต้องเร่งระดมทุนเร็วขึ้น ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนเป็นการนำมาชำระหนี้เงินกู้ เงินทุนหมุนเวียน และโรโอลเวอร์หุ้นกู้ที่ครบกำหนด

   

 นอกจากยังมีหุ้นกู้ครบกำหนด ในช่วงที่เหลือของปีนี้ 326,479 ล้านบาท จากปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดทั้งสิ้น 734,174 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ครบกำหนดที่เหลือสัดส่วน 85% อยู่ในกลุ่ม Investment ซึ่งสัดส่วน 50% หรือ 174,476 ล้านบาท มีเครดิตเรทติ้งระดับ A- และสัดส่วน 35% เป็นเครดิตเรทติ้ง BBB อยู่ที่ 101,359 ล้านบาท และที่เหลือ เป็นกลุ่ม High Yield ราว 50, 644 ล้านบาท และในระยะ 3 ปีข้างหน้า ยังมีหุ้นกู้ครบกำหนดเฉลี่ยปีละ 700,000 ล้านบาท สะท้อนได้ว่าแนวโน้มการออกหุ้นกู้เอกชนยังเพิ่มขึ้น

"แนวโน้มมูลค่าการออกหุ้นกู้ช่วงที่เหลือปีนี้ยังเพิ่มขึ้นแต่ไม่น่าจะร้อนแรงไปกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะผู้ออกได้เร่งออกไปค่อนข้างมากแล้ว และธปท.น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ดอกเบี้ยขึ้นมาแรง ภาคธุรกิจเห็นหุ้นกู้เป็นเครื่องมือช่วยล็อกต้นทุนทางการเงินได้ดีกว่า เงินกู้แบงก์ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว และยังมีความต้องการอีกมาก เห็นได้จากสภาพคล่องในตลาดเงินสูงจากเงินออมภาคครัวเรือน"

นักลงทุนเชื่อมั่นเข้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตุคือ มีหุ้นกู้ที่เป็นหุ้นกู้ที่ให้สิทธิผู้ออกในการไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable bond) เพิ่มขึ้นเป็น 10% เพื่อเป็นออปชั่นให้กับผู้ออกในอนาคต หากดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง ผู้ออกก็อาจจะใช้สิทธิซื้อคืนก่อนได้เพื่อไปออกใหม่ในต้นทุนที่ถูกกว่า หรือกลุ่ม “High Yield” เอง ตราสารที่มีหลักประกันก็มีสัดส่วนลดลงเหลือ 54% จากปีก่อนอยู่ที่ 68% สะท้อนว่า ตลาดเองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น

เพิ่มขึ้นทั้ง Investment grade-High Yield

นายสมจินต์ กล่าวว่า สำหรับปริมาณการออกหุ้นเอกชนที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่ม Investment grade  เพิ่มขึ้น 20% มีมูลค่า 673,005 ล้านบาท และกลุ่ม High Yield เพิ่มขึ้น 31% มีมูลค่า 67,351 ล้านบาท  

นอกจากปริมาณการออกที่เพิ่มขึ้นมากแล้ว ยังพบว่า ผู้ออก สามารถเลือกที่ล็อกอัตราดอกเบี้ยยาวขึ้น  ในช่วง 7 เดือนปีนี้ อายุเฉลี่ยของหุ้นกู้ที่ออกยาวขึ้น ในกลุ่ม Investment grade อายุเฉลี่ยต่อรุ่นยาวขึ้นเป็น 5.39 ปีจากปีก่อน ที่ 4.92 ปี  ขณะที่กลุ่ม High Yield และ Non-rated อายุเฉลี่ยต่อรุ่นทรงตัว 2-3 ปี เพราะเป็นลักษณะของหุ้นกู้ที่ไม่สามารถออกระยะยาวได้ 

อีกทั้งการออกหุ้นกู้เอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอันดับเครดิต ยกเว้น A เรทติ้ง เพราะ ปีก่อน  เรทติ้ง A มีปริมาณการออกมาค่อนข้างมากแล้ว สะท้อนภาพความสนใจ และความนิยมของตลาดที่เลือกใช้หุ้นกู้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพิ่มขึ้น และเร็วขึ้นด้วย

“กลุ่มพลังงาน” ลุยออกหุ้นกู้มากที่สุุด

โดยยังคงเห็นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน และปิโตรเคมี ยังมีการแผนการออกต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มปิโตรเคมีนับว่าเป็นกลุ่มที่กลับมาใช้การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาว 

 ขณะที่ “กลุ่มพลังงาน” ใช้การระดมทุนผ่านหุ้นกู้มากที่สุด และที่เหลือยังคงกระจายตัวใน 8 อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ไฟแนนซ์ แบงก์ ไอซีที อาหาร เป็นต้น   

ชี้ตลาดรับข่าว กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว  

ส่วนการประชุม กนง. รอบ 10 ส.ค.นี้ นายสมจินต์ กล่าวว่า ตลาดพันธบัตร รับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไปแล้ว โดยตลาดคาดว่าช่วงที่เหลือปีนี้ กนง. จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,25%  และใน 2 ปีข้างหน้า ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 2-3% 

โดยในช่วง 7 เดือนปีนี้ สำหรับต้นทุนการกู้ยืมอายุ 5 ปี ของผู้ออกหุ้นกู้ทุกเรทติ้ง มีการปรับตัวสูงขึ้น และอยู่ที่ระดับสูงกว่าก่อนโควิด จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) ที่ปรับสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ ทำให้หุ้นกู้ต่าง ๆ มีจ่ายผลตอบแทนสูงขึ้น

ต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี เรทติ้ง BBB อยู่ที่ 5.30% (+77 bps) , เรทติ้ง BBB+ อยู่ที่ 4.59% (+38 bps) เรทติ้ง A อยู่ที่ 3.39% (+77 bps) เรทติ้ง AA อยู่ที่ 3.25% (+115 bps) และเรทติ้ง AAA อยู่ที่ 2.85% (+100 bps) 

ขณะที่ส่วนชดเชยความเสี่ยง (credit spread) ของหุ้นกู้อายุ 5 ปี อันดับเครดิตเรทติ้งต่ำกว่า AA ปรับลดลงในครึ่งปีแรก และทุกเรทติ้งยกเว้น BBB+ อยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนโควิด

“เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมานี้  เฟดขยับดอกเบี้ยอีก 0.75% ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐสูงกว่า 2%  ขณะที่ปัจจุบันพบว่าบอนด์ยีลด์ระยะสั้น (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ในรุ่นอายุ 6 เดือน ขยับขึ้นมาแล้ว 0.25% ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งที่ซึมซับว่าตลาดเชื่อว่า กนง.ในการประชุมรอบเดือนส.ค. น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว”

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์