อดีตบิ๊ก ‘คลัง-ธปท.’ห่วงเงินเฟ้อสูงยาว แนะขึ้นดอกเบี้ยต้องแรง!

อดีตบิ๊ก ‘คลัง-ธปท.’ห่วงเงินเฟ้อสูงยาว แนะขึ้นดอกเบี้ยต้องแรง!

“ประสาร” อดีตผู้ว่า ชี้ประชุมกนง.ห่าง ต้องขยับดอกเบี้ยแรงขึ้น ฟาก“บัณฑิต”อดีตรองผู้ว่า ชี้ขึ้นดอกเบี้ยช้าสร้างต้นทุนเศรษฐกิจมหาศาล ด้าน“ณรงค์ชัย”ชี้การใช้ดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อได้ผลน้อย แต่ช่วยสกัดเงินไหลออก “สมหมาย”ย้ำไทยต้องขึ้นดอกบี้ยแต่อย่าตามสหรั

อดีตบิ๊ก ‘คลัง-ธปท.’ห่วงเงินเฟ้อสูงยาว แนะขึ้นดอกเบี้ยต้องแรง!        การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 ส.ค.นี้ ถือเป็น “นัดสำคัญ” ที่จะกำหนดชะตา “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทย ภายใต้ดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น และการออกมาส่งสัญญาณชัดเจนของธนาคารแห่งประเทศไทย “แบงก์ชาติ” ในการปรับนโยบายการเงินไปสู่ “สภาวะปกติ” 

       นอกจากการวัดใจของ กนง.ในการปรับดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้แล้ว สิ่งที่ตลาดจับตา คือการ “ส่งสัญญาณ” ของ กนง.ครั้งนี้ และท่าที ในการดูแลเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป ซึ่งจะเหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร

        ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากดูเงินเฟ้อปัจจุบันจากตัวเลขทางการทั้งเดือน มิ.ย.และ ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าออกมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งเงินเฟ้อที่ยืนระดับสูงถือว่ากินเวลายาวนานกว่าที่เคยคิดไว้ จากเมื่อต้นปีเดิมที่เคยมองว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง อาจอยู่กับเรานานกว่าที่คิดไว้

      ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้เงินเฟ้อสูงควรเป็นอย่างไร ปัจจุบันนโยบายการเงิน อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ Inflation Targeting ดังนั้น การที่จะทำให้เงินเฟ้อลงได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลัก ก็คือการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ ภายใต้กรอบนโยบายที่มีอยู่ ซึ่งหากดูเงินเฟ้อในปัจจุบันถือว่าเกินกรอบบนค่อนข้างมากที่เดิมตั้งเป้า 1-3%

เงินเฟ้อสูงไม่ใช่ปัจจัยระยะสั้น             

      หากดูจากปัจจัยต่างๆ มองว่าเงินเฟ้อน่าจะยืนระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น เรื่องเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราว หรือระยะสั้นๆแน่นอน อีกทั้ง ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า มองว่าจะมาทั้งจากปัจจัยอุปสงค์และอุปทาน ทั้งจากราคาน้ำมันแพง และจากการเปิดประเทศ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น เหล่านี้จะมีส่วนหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

       ทั้งนี้ หากดูปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยอุปสงค์และอุปทานที่ต้องให้ความสำคัญมาก คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อ เพราะตัวนี้จะมีผลค่อนข้างมากหากธุรกิจคิดว่า เงินเฟ้อจะไปอีก ก็อาจตัดสินใจขึ้นราคา ผู้บริโภคก็อาจซื้อของแพงขึ้น อาจมีการซื้อสินค้าตุน เหล่านี้มาจากแรงกดดันที่มาจากการคาดการณ์

      ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องแสดงให้เห็นถึงความแข่งขันที่จะต้องจัดการเงินเฟ้อให้ได้ ภาคธุรกิจ ประชาชนจะได้ไม่คาดการณ์ไปล่วงหน้า

ขึ้นดอกเบี้ยต้องมากกว่าปกติ

      ดังนั้น หากมองอัตราดอกเบี้ยของไทย ในระยะข้างหน้าคงต้องขยับเพิ่มขึ้น จากที่อยู่ระดับต่ำมานาน ส่วนจะเป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ มองว่าหากดูการประชุมกนง. วันนี้ประชุมน้อยลงเหลือปีละ 6 ครั้ง จากเดิม 8 ครั้งต่อไป ในขณะที่การประชุมที่ห่างขึ้น และบังเอิญเกิดเหตุการณ์จากปัจจัยต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกสำคัญเกิดและถี่ขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจจะยาก จึงมองว่าการขยับดอกเบี้ยควรมากกว่าปกติ เพราะการประชุม กนง.ค่อนข้างห่าง

      “ก่อนที่จะประชุม กนง.ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ห่างกับการประชุมของเฟด ถึง 2 ครั้ง แปลว่า กว่าไทยจะประชุมเฟดก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีความถี่ค่อนข้างมาก อีกนัยก็มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นเยอะมากในช่วงที่กนง.ทิ้งห่าง 2 เดือน 

ดังนั้น คำว่าค่อยเป็นค่อยๆ ไปแล้วจะปรับขึ้นทีละสเต็ปทีละน้อย มองว่าการทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดูยาก เพราะประชุมกันห่าง ดังนั้นการประชุมแต่ละครั้งก็ต้องใหญ่กว่าปกติ คือการขยับขึ้นดอกเบี้ยต้องมากกว่าปกติ กว่าการทำก้าวละนิดนะน้อย เพราะการขยับแต่ละครั้งมันนานเกินไป”

ประชุมกนง. 8 ครั้ง เหมาะสม

     ส่วนการประชุม กนง.ภายใต้ความถี่ช้าลง หากเทียบกับอดีต จำเป็นต้องมีการประชุม กนง.รอบพิเศษหรือไม่นั้น มองว่าที่เหมาะสม คืออาจรอให้ทุกอย่างสงบก่อนแล้วถึงเรียกประชุมพิเศษได้ ทั้งนี้มองว่าการประชุมกนง. แบบเดิมคือ 8 ครั้ง ส่วนตัวมองว่าดีกว่า 6 ครั้ง เพราะสถานการณ์ต่างๆเกิดขึ้นเร็วและเยอะมาก

       “เวลานี้ก็เห็นใจกนง.เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเยอะ การดำเนินนโยบายการเงินก็มีข้อจำกัด อยู่พอสมควร ก็ต้องช่วยกันดูให้รอบคอบ แต่ระยะที่ผ่านมาเราสร้างภูมิคุ้มกันไว้พอสมควร เช่น เรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง กรอบนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นพอสมควร เสถียรภาพระบบการเงินแข็งแกร่ง ดังนั้นน่าจะป้องกันได้ระดับหนึ่ง ไม่ให้เกิดวิกฤติต่างๆได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาท ต้องรักษาความแข็งแกร่งไว้”

แรงกดดันเงินเฟ้อสูงมีมาก

     ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล อดีตรองผู้ว่าการเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเดือนก.ค. ออกมาใกล้เคียงกับเดือนพ.ค. ที่ 7.6% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อ ยังสูง

      และหากมองไปข้างหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่มากพอสมควร จาก ตัวราคาน้ำมันที่เป็นตัวหลัก ที่แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัว แต่บนพื้นฐานของราคาน้ำมันที่เกินระดับ 100 ดอลลาร์ ยังถือว่าเป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจ และสร้างปัญหาให้เงินเฟ้ออยู่

      ดังนั้นหากดูเงินเฟ้อในปัจจุบัน ถือว่าเป็นแรงกดันต่อระบบเศรษฐกิจมากพอสมควร เพราะหากดูเงินเฟ้อพื้นฐานก.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 3% จากมิ.ย.ที่ 2.5% สะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่มาก ที่ยังไม่ส่งผ่านมาสู่ระบบ เพราะหากราคาสินค้าของผู้ผลิตเดือนล่าสุดอยู่ที่ 12%

     แต่หากดูเงินเฟ้อขณะที่เงินเฟ้อของผู้ผลิต สูงถึง 16-17% ต่างกับเงินเฟ้อทั้งระบบที่อยู่เพียงระดับ 7% แปลว่ายังมีต้นทุนอีกมากที่ผู้ผลิตอั้นไว้ และยังไม่ส่งผ่านมาสู่ระบบ

     ขณะที่เดือนหน้าจะเริ่มมีการพูดถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่าขึ้นราว 7-8% บวกกับค่าไฟที่กดไว้ จากการเข้าไปดูแลของรัฐ สิ่งเหล่านี้ ต้องถูกปรับขึ้น และรอประทุอยู่ ดังนั้นแรงกดดันเงินเฟ้อมีอยู่มาก ทำให้ยังมองว่าเงินเฟ้อยังเป็นขาขึ้นต่อไป สักอีกระยะ

       ซึ่งในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ก็ต้องให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคา เหล่านี้เป็นหน้าที่หลักของธนาคาร

'คลัง-ธปท.'ขาดการสื่อสารชัดเจน

     แต่สิ่งที่เกิดขึ้น จากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น วันนี้เรายังไม่เห็นการสื่อสารชัดเจน ของกระทรวงการคลัง หรือ แบงก์ชาติ หรือ กนง. ว่าจะสามารถทำให้เงินเฟ้อกลับไปสู่ระดับต่ำ หรือกลับไปสู่เป้าหมายที่ 1-3% ได้เมื่อไหร่ เร็วแค่ไหนอย่างไร 

สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีการสื่อสารอย่างชัดเจน ว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับไปสู่อัตราเงินเฟ้อในระดับเป้าหมายได้เมื่อไหร่ เพราะประเทศที่เงินเฟ้อสูง จะทำให้ผู้ผลิต นักลงทุน หรือการจัดการด้านต่างประเทศทำได้ยากขึ้น เพราะต้นทุนในประเทศสูงขึ้น ค้าขายสินค้าก็ต้องแพงกว่าประเทศอื่นๆ

      และที่สำคัญ และชัดเจนคือ การที่เราไม่ทำอะไร ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ที่เงินเฟ้อสูง สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทั้งแง่เงินบาทที่อ่อนค่า ความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้ธปท.มีความจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงเงินบาทเพื่อไม่ให้ผันผวนจนเกินไป นำมาสู่ทุนสำรองที่ลดลงพอสมควร เหล่านี้คือต้นทุนที่เกิดขึ้น จากการดำเนินนโยบายที่ช้าเกินไป

      ดังนั้นมองว่า การขึ้นดอกเบี้ย คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เพราะดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาขึ้น ดังนั้นนโยบายการเงินต้องมีบทบาทในการดูแลเงินเฟ้อ ที่จะยังเป็นแรงกดดันอยู่มากในครึ่งปีหลังนี้ และการที่เราเปิดประเทศ ทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวเศษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากนัก

      ส่วนแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถึงเพียงพอ ให้เป็นดุลยพินิจของกนง. แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการเห็นคือ การทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพื่อทำให้ทุกคนรู้สึกว่า แบงก์ชาติตัดสินใจที่ดี ทันเหตุการณ์ ตัดสินใจถูกต้อง และทำให้ทุกคนรู้ว่าธนาคารกลางทำอย่างอย่างมืออาชีพ

      “จริงๆ แบงก์ชาติเทคเอกชั่นช้า เราควรขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้วด้วยซ้ำ และวันนี้คนเริ่มพูดถึงโอกาสที่จะเห็นการประชุมวาระพิเศษในช่วงที่เหลือปีนี้ ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว ที่สามารถทำได้ หากเหตุการณ์เปลี่ยนเร็ว และต้องรีบตัดสินใจก็ประชุมได้ และก็เชื่อว่าตลาดการเงินก็ไม่แปลกใจกับสิ่งเหล่านี้”

ใช้ดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อได้ผลน้อย

     ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC และอดีตคณะกรรมการ กนง.กล่าวว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และอยู่ภายใต้การคุมราคาหลายด้าน ทั้งการคุมรานคาพลังงาน ราคาไฟฟ้า ที่ภาครัฐใช้งบไปกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อคุม ไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ลดค่าครองชีพของประชาชนภมองว่าสิ่งเหล่านี้ จะกลายมาเป็นภาระให้กับประชาชน ที่ต้องชดใช้ในอนาคต

       สำหรับประเทศไทย มองว่า เงินเฟ้อ มาจากต้นทุนด้านราคา ดังนั้น การเอา “ดอกเบี้ย”เพื่อมาคุมเงินเฟ้อ อาจไม่มีผลมากนัก เท่าสหรัฐ เพราะเงินเฟ้อสหรัฐมาจากความต้องการซื้อที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างกับบริบทของไทย ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว การบริโภคต่างๆยังไม่ฟื้นมาก

     ทั้งนี้ หากดูเงินสำรองระหว่างประเทศ ปัจจัยลดลงปีละ 10% จากกว่า 2แสนล้านดอลลาร์ แม้ตอนนี้ไม่เดือดร้อน แต่ระยะข้างหน้าอาจเกิดเงินไหลออก จนส่งผลให้ทุนสำรองอาจลดลงกว่าที่ควรจะเป็น หากไม่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในระยะถัดไป ดังนั้นมองว่า ควรปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อลดแรงของเงินทุนไหลออกที่อาจไหลออกได้ในระยะข้างหน้า

     ดังนั้นการปรับนโยบายการเงิน คือการขึ้นดอกเบี้ย มองว่านอกจากแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ยังช่วยเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยโลก กับสภาพคล่องในโลกที่จะหายไป

    “ปัญหาเงินเฟ้อของไทย ไม่ได้มาจากดีมานด์ไซด์ ไม่ได้มาจากความต้องการซื้อ หากใช้ดอกเบี้ยเพื่อเบรกเงินเฟ้อ อาจไม่ได้ผลมาก แต่ก็ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นบ้าง เพราะดอกเบี้ยโลกปรับขึ้น และสภาพคล่องในโลกลดลง โดยเฉพาะหลังสหรัฐหยุดการอัดฉีดสภาพคล่อง ทำให้สภาพคล่องส่วนใหญ่เริ่มไหลกลับสหรัฐ ดังนั้นดอกเบี้ยต้องขึ้น เพราะหากดอกเบี้ยต่ำ เงินจะไหลออกกันใหญ่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยขึ้นช้าไปหน่อย แต่ก็เข้าใจได้ เพราะสิ่งที่ กนง.กลัวคือ คนเป็นหนี้จะเจ็บไปด้วยก็เห็นใจ”

ต้องขึ้นดอกเบี้ยแต่ไม่ใช่ตามก้นสหรัฐ

นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการเดินนโยบายการเงินของโลก มีความสลับซ้ำซ้อนมาก ชาติที่เจริญแล้ว อย่างสหรัฐ ใช้ดอกเบี้ยนำ นำหน้าประเทศอื่นๆไปเรื่อยๆ หรือ “จูงประเทศอื่นๆ จูงประเทศเกิดใหม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรง” เพราะการที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ประโยชน์ที่สหรัฐได้ คือค่าเงิน คนหันมาใช้ดอลลาร์มากขึ้น ถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย จากความผันผวนของตลาดโลก และการที่ดอลลาร์แข็งค่า คนที่ต้องจ่ายค่าสินค้า ทำธุรกิจต้องจ่ายแพงขึ้น

ซึ่ง นโยบายของสหรัฐวันนี้ ส่งผลมากต่อหลายประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศค่อยๆปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะภายใต้เงินเฟ้อที่สูง แต่ผลตอบแทนต่ำ เช่นเงินฝาก ก็ทำให้ค่าของเงิน หรือผลตอบแทนติดลบ ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐทำ คือพยายามทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อรักษาผลตอบแทนของดอลลาร์ให้อยู่ในระดับที่ดี