“มิตรผล”ตั้งเป้าทำธุรกิจช่วยลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตร

“มิตรผล”ตั้งเป้าทำธุรกิจช่วยลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตร

“มิตรผล”ตั้งเป้าหมายธุรกิจช่วยลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตร ชี้แม้บริษัทจะผลิตน้ำตาลอันดับ 3 ของโลก แต่สัดส่วนธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนถึง 26% และ 7% เป็นธุรกิจทดแทนไม้และรีไซเคิล ที่ได้นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ พร้อมเปิดทางดึงพาร์ทเนอร์ร่วมธุรกิจ

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงานธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ:วิกฤตหรือโอกาส ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย โดยกล่าวว่า กรณีที่ระบุว่า ภาคเกษตรปล่อยก๊าซคาร์บอน ถึง 20% นั้น เชื่อว่า เราจะสามารถเข้าไปช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

ทั้งนี้ เพราะว่า วันนี้ พื้นที่ที่เกษตร 137 ล้านไร่ กว่าครึ่งหนึ่งหรือกว่า 70 ล้านไร่ เราปลูกข้าว ซึ่งขณะนี้กำลังใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ 70 ล้านไร่ ส่วนอ้อยมีประมาณ10 ล้านไร่เท่านั้น ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรให้พืชเหล่านี้เติบโตโดยใช้คาร์บอนในการสังเคราะห์แสงและดูดคาร์บอนเข้าไป และเราก็ทำผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทน

เขากล่าวว่า นอกจากเราจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายอันดับ 3 ของโลกแล้ว แต่ในปี 2019 สัดส่วนธุรกิจของเรานั้น มีถึง 26% เป็นธุรกิจพลังงานที่เกิดจากการทำนวัตกรรมจากการทำไฟฟ้าไบโอแมส ซึ่งเชื่อว่า มีศักยภาพมากมายที่รัฐบาลต้องการความมั่นคง

“เรายังมีศักยภาพที่ลดคาร์บอน โดยวันนี้ เรามีไฟฟ้าเกือบ 900 เมกกะวัตต์ และเพิ่มได้อีก ถ้ารัฐบาลมีนโยบาย เรามีธุรกิจทดแทนไม้อยู่ 7% เป็นธุรกิจที่เศษวัสดุจากการทำไม้ และนำผลพลอยได้จากการผลิตกลับไปรีไซเคิล และยืดอายุของแต่ละผลิตภัณฑ์มากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี ฉะนั้น ก็กลับมาดูพืชพลังงาน โดยเฉพาะอ้อยน่าจะเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้”

ทั้งนี้ ในระบบเรามีคาร์บอน 10 ล้านตัน แต่ซื้อขายกันอยู่ประมาณ 1 ล้านตันเท่านั้น โดย 90% เป็นคาร์บอนเครดิตที่มาจากมิตรผล ดังนั้น เราเตรียมแผนขยับตลาดคาร์บอนที่จะต้องทำร่วมกันกับธุรกิจอื่นๆ โดยคนแรกที่ซื้อคาร์บอนเครดิตคือสยามภิวัฒน์ 3 พันตัน แต่วันนี้ ลูกค้ารายใหญ่ คือ กสิกรไทย เป็นแสนตัน ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นของรัฐและนโยบายในการส่งเสริมตลาดคาร์บอนเครดิตมากขึ้น

เขากล่าวด้วยว่า มิตรผลเองก็ประกาศที่จะลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยจะพยายามลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง เรามองเห็นว่า ถ้ามีโอกาสสร้างพลังงานทดแทนมากขึ้น เราจะทำคาร์บอนเครดิตได้มากขึ้น โดยดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมดำเนินการ

ทั้งนี้ ระดับนโยบายควรต้องเข้ามาพัฒนากระบวนการรับรองให้การลงทะเบียนทำได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้อยู่ในมือต่างชาติ ซึ่งตนคิดว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องสร้างระบบขึ้นมาเพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกยั่งยืน