“เอ็มเอฟซี”ชี้ลงทุนธีม“เมตาเวิร์ส” ไม่ควรมองข้ามในภาวะตลาดหมี

“เอ็มเอฟซี”ชี้ลงทุนธีม“เมตาเวิร์ส”  ไม่ควรมองข้ามในภาวะตลาดหมี

เมื่อภาวะตลาดคริปโทเคอร์เรนซี แล้ว ในจังหวะนี้ "เมตาเวิร์ส" เป็นโอกาสในการลงทุน ที่ไม่ควรถูกมองข้ามอยู่หรือไม่ บลจ.เอ็มเอฟซี ชี้หุ้นใน "กองทุน M-META" เป็นหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะมีความทนทานรับความผันผวนได้ดี

“ภาวะตลาดคริปโทเคอร์เรนซี” เข้าสู่ “ภาวะตลาดหมี” หรือ พักฐานในช่วงนี้ ทำให้กระแสที่เคยฮือฮาทั่วโลกอย่าง “ Metaverse  (เมตาเวิร์ส)”  หรือ“ โลกเสมือนจริง ที่นักลงทุนเคยให้ความสนใจ กลับ “เงียบเหงา” ด้วยเช่นกัน

แต่ต้องไม่ลืมว่าช่วงที่ผ่านมาหลายๆแบรนด์ใหญ่ระดับโลก รวมถึงบริษัทดังๆในไทยต่างปรับตัว และกระโดดเข้ามาจับจองพื้นที่ในโลกเมตาเวิร์สกันแล้ว   และนอกเหนือกลุ่มแฟนฟันธ์ุแท้คริปโทฯ ที่ท่องโลกเสมือนจริงเป็นชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว  ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่เข้ามาก้าวเข้ามาในโลกเมตาเมิร์สแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ผ่านการเล่นเกม หรือการเข้ามาเก็บไอเทมเป็น NFT (non-fungible token) ที่อยู่ในเมตาเวิร์สนั่นเอง 

 รวมถึง “กองทุนไทย”  ไม่ตกเทรนด์ในปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในธีม “เมตาเวิร์ส”  กองแรกของไทยขึ้นมา คือ “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เมตาเวิร์ส อิควิตี้ (M-META)” อาจมองว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในอนาคตได้ 

โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ อาจไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นไหนดี กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเมตาเวิร์ส เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลปรับเปลี่ยนทิศทาง   แต่ในจังหวะนี้ "เมตาเวิร์ส" เป็นโอกาสในการลงทุน ที่ไม่ควรถูกมองข้ามอยู่หรือไม่  

”ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกองทุนต่างประเทศ  บลจ.เอ็มเอฟซี มองว่า จากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ยังคงเผชิญความผันผวน จากความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย อัตราเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการเงินสูงขึ้น อาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธีมเมตาเวิร์สถูกปรับลง ส่งผลต่อการประเมินมูลค่าราคาใหม่ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทมีการปรับฐานแรง ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตามมองว่า ยังมีความเสี่ยงขาลง ( downside risk)  ในระยะสั้น-กลาง  หลังจากช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมานี้  ราคาน้ำมันลดลงแรง ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้ออาจชะลอตัวลง ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาใน หุ้น Ball Metaverse Index ที่เป็นดัชนีอ้างอิงของ กองทุน M-META ปรับตัวขึ้นแรง 12 %

ปัจจัยเรื่องค่า Forward P/E ของ The Roundhill Ball Metaverse ETF อยู่ที่ระดับ 36.5เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน  ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอและความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย มองว่า หุ้นในกองทุน M-META เป็นหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะมีความทนทานกว่าและรับความผันผวนได้ดีกว่าหุ้นเทคโนโลยีขนาดเล็ก จากกระแสเงินสดและปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่า

คำแนะนำสำหรับ “นักลงทุนระยะสั้น” หรือ ซื้อเพื่อเก็งกำไร ควรชะลอการลงทุนเพื่อรอดูปัจจัยเงินเฟ้อ และทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่ “นักลงทุนระยะยาว”  ที่ยังไม่มีหุ้นในธีมลงทุนนี้กลับทยอยเข้าลงทุนได้  

ขณะที่ "นักลงทุนที่มีหุ้นเทคโนโลยีในพอร์ตสัดส่วนที่มากและรับความเสี่ยงได้ต่ำ" อาจพิจารณาทยอยลดน้ำหนักบางส่วนเมื่อราคาฟื้นตัวเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต แต่ “ถ้ามีสัดส่วนการลงทุนไม่มาก และรับความเสี่ยงได้สูง ”แนะนำให้ถือลงทุนต่อ จากระดับ Valuation ในปัจจุบันที่ถือว่าปรับลงมามากพอสมควร และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาว    

สำหรับ กองทุน M-META จดทะเบียนกองทุนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564  มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว หรือ Feeder Fund คือ Roundhill Ball Metaverse ETF ซึ่งเป็นกองทุนหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

โดยกองทุนหลักเป็นกองทุนอีทีเอฟซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ประเทศสหรัฐ บริหารจัดการลงทุนโดย Roundhill Investments กองทุน Roundhill Ball Metaverse ETF จะลงทุนอย่างน้อย 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนในบริษัทที่เป็น Metaverse ซึ่งรวมถึง American Depository Receipts (ADRs) หรือ special purpose acquisition companies       

นอกจากนี้ กองทุนหลักอาจถือครองหลักทรัพย์ของ บริษัทจดทะเบียนที่มีธุรกิจและการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ทั้งนี้ กองทุนหลักจะไม่ลงทุนโดยตรงใน Cryptocurrency

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ณ วันที่ 1 ส.ค. 2565 พบว่า กองทุน M-META  มีผลตอบแทน (YTD) -39.27%  และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน  -69.73% มีความผันผวน 46.27 % ใกล้เคียงดัชนีชี้วัด  

กองทุน M-META  มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value) หรือ NAV อยู่ที่ 358,473,407 บาท  ราคารับซื้อคืน (Bid) อยู่ที่   6.0689บาทต่อหน่วย และราคาขาย (Offer) อยู่ที่ 6.1469บาทต่อหน่วย