SACIT เดินหน้าปฏิรูปงานศิลปหัตถกรรมไทย "สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม "

SACIT เดินหน้าปฏิรูปงานศิลปหัตถกรรมไทย "สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม "

“พรพล”กางแผนขับเคลื่อนสถาบันส่งเสริมศิลปหัตกรรมไทย เตรียมลุยภารกิจสานต่องานจากรุ่นสู่รุ่น นำนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า เพิ่มช่องทางจำหน่าย จับมือสตาร์บัค เกรฮาวด์ช่วยขาย เล็งดึงศิลปิน ดาราชื่อดัง ช่วยโปรโมต เปิดอาร์ท แอนด์ แกลอรี ดึงนักท่องเที่ยว ปลื้มคะแนน ITA ได้ระดับA

นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยภายหลังการเปลี่ยนชื่อองค์กร ว่า SACIT มีแผนที่จะพัฒนางานศิลปหัตถกรรมใน 3 ด้าน คือ สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงาน โดยในด้านการสืบสาน จะผลักดันให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้สูญหายไป โดยผ่านกิจกรรมสำคัญในการยกย่องเชิดชูกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งได้คัดเลือกเป็นประจำทุกปี นำมายกย่องเชิดชูให้เป็นที่รู้จัก สร้างพื้นที่ทางการตลาดต่าง ๆ ให้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่างให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น 

ด้านการสร้างสรรค์ จะเข้าไปช่วยพัฒนางานศิลปหัตถกรรมให้เหมาะกับยุคสมัยและกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มที่ต้องการงานดั้งเดิม ชื่นชอบในอัตลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมก็ยังคงรักษาไว้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ให้มีการสร้างสรรค์ทั้งในเรื่องของงานดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามตอบโจทย์การใช้งานคนรุ่นใหม่

ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย เช่น นำเทคโนโลยีนาโนมาพัฒนาผ้าไหมซักง่าย รีดง่าย ไม่ขึ้นรา จากเดิมที่ซักยาก รีดยาก จัดทำห้องวิจัยสีย้อมธรรมชาติ เช่น ย้อมคราม เปลือกไม้ เพื่อพัฒนาสีย้อมผ้าให้มีความหลากหลายขึ้น ผลักดันใช้ตรา SACIT ไปติดที่สินค้า เพื่อเป็นการรับประกันว่าสินค้าดี มีคุณภาพ เป็นสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น

SACIT เดินหน้าปฏิรูปงานศิลปหัตถกรรมไทย \"สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม \"

นายพรพล กล่าวว่า  ด้านการส่งเสริม จะช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยทำแพลตฟอร์มจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบออนไลน์ต่าง ๆ เช่น sacitshop.com , sacitshop Application และการจัดงานแสดงสินค้า ไม่ว่าจะเป็นงาน SACIT เพลินคราฟต์ , SACIT Craft Fair , งานอัตลักษณ์แห่งสยาม , Craft Bangkok และเปิด SACIT Corner ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และภูเก็ต ที่ห้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน เพิ่มการจำหน่ายสินค้าหัตถศิลปกรรมไทย เช่น ร่วมมือกับสตาร์บัค ขายแก้ว หรือกำลังเจรจากับเกรฮาวด์ เพื่อนำผ้าไปผลิตเป็นเสื้อผ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อสร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้งานหัตถศิลปกรรมไทยเพิ่มขึ้น โดยจะทำโครงการ Friend of SACIT ดึงศิลปิน ดารา ชื่อดังระดับประเทศ มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ส่งเสริมการใช้งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือก

การร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์เป้า 20 ราย ที่จะมาช่วยโปรโมต การใช้ช่องทางออนไลน์ในการโปรโมตให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านเพจที่คนติดตามมาก ยูทูป และ Tiktok การดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen และการผลักดันให้ SACIT เป็นอาร์ท แอนด์ แกลอรี โดยขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยว สามารถเข้ามาชม ซื้อ มีนิทรรศการให้ดู และมีเวิร์กชอปให้ทำ คาดว่าจะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท

SACIT เดินหน้าปฏิรูปงานศิลปหัตถกรรมไทย \"สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม \"

ล่าสุด SACIT ได้รับผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ปี 2565 ภาพรวมหน่วยงาน 90.13 คะแนน หรือระดับผลการประเมิน A  ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นทุกปี โดยปี 2564 ได้ 86.77 คะแนน ปี 2563 ได้ 83.14 คะแนน และมีลำดับดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานภายนอก คือ อยู่ในอันดับที่ 44 จากกลุ่มองค์การมหาชนทั้งหมด 57 หน่วยงาน (ปี 2564 มีทั้งหมด 55 หน่วยงาน อยู่อันดับที่ 54) และอยู่ในอันดับที่ 28 จากกลุ่มองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งทั้งหมด 35 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 35 ท้ายสุด) และอยู่ในอันดับที่ 9 จากกลุ่มกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด 12 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุด)