การเมืองโลก ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

การเมืองโลก ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศขณะนี้เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ไม่น้อย ทั้งปัญหาระหว่าง สหรัฐอเมริกา จีน และ ไต้หวัน รวมไปถึง รัสเซีย และยูเครน ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างประเทศ

อีกปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและลามมายังเศรษฐกิจไทย ต้องจับตาการเยือนไต้หวันของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยไม่สนใจคำทัดทานและคำขู่ของจีน ที่ออกอาการไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดและตอบโต้อย่างทันที ด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อไต้หวัน ปัจจุบัน จีน นับเป็นเป็นตลาดส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุด และคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน นอกจากออกมาตรการตอบโต้ไต้หวันแล้ว ทางการจีนยังเรียก “นิโคลัส เบิร์น” เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำจีนเข้าพบเพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของเพโลซี

การออกมาตรการตอบโต้ไต้หวันของรัฐบาลปักกิ่งมีขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ด้วยการพยายามปราบปรามผู้ผลิตชิปความจำในจีน ที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญด้วยการจำกัดการจัดส่งอุปกรณ์ในการผลิตชิปของบริษัทอเมริกันให้แก่บรรดาผู้ผลิตชิปความจำในจีน

รวมถึงบริษัทหยางซี เมมโมรี เทคโนโลยีส์ โต จำกัด (วายเอ็มทีซี) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสกัดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนและปกป้องบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติอเมริกัน นั่นดูเหมือนว่า เรากำลังได้เห็นสงครามการค้าปะทุขึ้นอีกครั้ง

เรื่องนี้นับว่าเป็นอีกความกังวลที่ประเทศไทย อาจต้องเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามา นอกเหนือจากปัจจัยสงครามรัสเซีย ยูเครนที่ก็ยังไม่จบดี และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะออกมาบอกว่า

ไทยอาจได้รับ ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าหรือส่งออกใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1.อุตสาหกรรมเกษตร 2.อุตสาหกรรมอาหาร และ 3.อุตสาหกรรมชิป หลังจีนออกมาระงับสินค้าหลายประเภท ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ไปอีกระยะ ตลอดจนการลงทุนโดยอาจมีการโยกย้ายฐานการลงทุนมาไทย ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ต้องจับตาดูให้ดี

ขณะที่ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย วิเคราะห์สถานการณ์หลังจากโลกเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย และเริ่มส่งผลต่อภาคส่งออกของไทย รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้าง

มีอุตสาหกรรมเดียวที่จะช่วยปลุกให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ นั่นคือ ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังเลิกมาตรการไทยแลนด์พาส ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 7-8 ล้านคน เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องคิดหาแนวทาง หรือวิธีดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพพร้อมจ่ายเข้ามาเพื่อดึงดูดเม็ดเงินที่เป็นเหมือนความหวังเดียว เข้ามาชุบชีวิตเศรษฐกิจที่ลมหายใจเริ่มแผ่วเบาให้กลับมาแข็งแรงขึ้น