“กอบศักดิ์”ชี้สถานการณ์การลงทุนในตลาดจะผันผวนไปอีก2-3ปี

“กอบศักดิ์”ชี้สถานการณ์การลงทุนในตลาดจะผันผวนไปอีก2-3ปี

“กอบศักดิ์”ชี้ อัตราเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เฟสใหม่ ขณะที่ ความกังวลต่อสงครามระหว่างประเทศขนาดใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีน จะทำให้การลงทุนในตลาดต่างๆผันผวนไปอีก 2-3 ปี พร้อมแนะนักลงทุนรัดเข็มขัด เพื่อรอจังหวะลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน กล่าวในหัวข้อ เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยขึ้น จะอยู่รอดและเติบโตกันอย่างไร ในงานเสวนาจัดทัพการลงทุนฝ่าวิกฤต โดยสมาคมตราสารหนี้ไทยว่า ขณะนี้ เรากำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจ เมื่อจะลงทุนต้องคิดว่า การลงทุนนั้น เปลี่ยนเฟสไปแล้ว โดยเมื่อ1-2 ปีที่แล้ว การลงทุนไปได้ดี ดอกเบี้ยก็ต่ำต่อเนื่อง สภาพคล่องก็ดี หุ้นและสินทรัพย์ต่างๆก็คึกคัก แต่ขณะนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว

“วันวานอันหวานชื่นมันจบไปแล้วเมื่อพ.ย.ปีที่แล้ว จากนั้น ก็สลัดได้เข้าสู่โหมดใหม่ เป็นช่วงที่เฟดเฉลียวใจว่า เงินเฟ้อมาเร็วกว่าที่คิดไว้ และที่คิดว่า เงินเฟ้อชั่วคราว ไม่ต้องทำอะไร ก็เป็นเงินเฟ้อที่พยศ เอาไม่อยู่ ใส่ยากี่รอบก็เอาไม่อยู่ ในส่วนนี้ ทำให้เราเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจกำลังปรับเปลี่ยนไป และคิดว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่สั้น จะกินเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี”

ดังนั้น หมายความว่า การลงทุนของเรานั้น ก็จะเข้าสู่ช่วงผิดแผกไปจาก 2 ปีก่อนหน้า แต่ขณะนี้ ผ่านมาครึ่งปี ก็จะเหลืออย่างน้อยอีกปีครึ่งถึงสองปีครึ่ง ขึ้นอยู่กับผลของนโยบายต่างๆ

“คิดว่า ปีนี้ ลงทุนยาก ยกตัวอย่าง ใน 1 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนที่ผ่านมา สบายใจ โดยตลาดหุ้นแนสแดก และตลาดหุ้นต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ใครจะไปคิดว่า วันนี้ประธานสภาผู้แทนสหรัฐจะไปเยือนไต้หวัน ตลาดหุ้นก็เสียโมเมนตั้มไปนิด และ ตลาดอื่นก็ได้รับผลกระทบความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นมาอีก ทั้งหมดนี้ ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ทำให้แม้กระทั่งเซียนก็ต้องหลบ เพราะถ้าไม่หลบก็ถูกปราบ”

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่เฟสใหม่ คือ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ยกตัวอย่าง สหรัฐเมื่อ 40 ปีก่อน เกิดราคาน้ำมันช็อก และ เงินเฟ้อขึ้นไป 15% จากนั้น ก็ปรับลดลงมาและไม่เกิน 5% มาเป็นเวลานาน ครั้งนี้ เป็นช่วงที่เงินเฟ้อทะลุขึ้นไป และ นำมาสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เงินเฟ้อสูงขึ้น

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่า เงินเฟ้อน่าจะพีคในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และ จากนั้น จะค่อยๆดีขึ้น แต่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้น ฉะนั้น อัตราเงินเฟ้อก็จะน่าพีคสูงสุดในปี 2566 จากนั้น จะปรับลดลง แต่จะไม่ถึง 2% ทำให้ธนาคารกลางๆยังกังวล แต่ตนคิดว่า เงินเฟ้อที่อยู่ 9% จะสามารถลดลงมาได้ที่ 2% ซึ่งเฟดต้องทำงานอย่างหนักมาก

เขากล่าวว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้น คือ ราคาน้ำมัน จากเมื่อก่อน 50-70 เหรียญต่อบาร์เรล เมื่อเกิดสงครามราคาน้ำมันก็ผันผวน แต่ขณะนี้ ราคาได้กลับไปอยู่ในช่วงก่อนที่จะมีสงครามแล้ว ก็มีนัยสำคัญที่จะส่งผลช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางต่างๆสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น ซึ่งมีนัยต่อการลงทุนในบอนด์ และแนวโน้มดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ราคาของ Metal Commodities เริ่มลดลง ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆก็จะปรับลดลง ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อลดลงได้ รวมถึง ราคาอาหารโลกก็ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดกลับมาอยู่ราคาในช่วงต้นปี และราคาปุ๋ยโลกก็ปรับลดลงเล็กน้อย โดยรวมถ้าหมวดน้ำมันและโลหะเริ่มลดลง ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อโลกปรับลดลง

ส่วนเงินเฟ้อไทยนั้น คาดว่า จะขึ้นต่ออีกนิด แต่เงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ 2.5% นั่นคือสัญญาณที่ผู้ว่าธปท.บอกเสมอว่า เงินเฟ้อเมืองไทยยังรับได้ ถ้าเงินเฟ้อที่มาจากราคาน้ำมันลดลงอีก จะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐต่างกัน เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ที่ 3% เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ 6% ฉะนั้น ความเข้มงวดของนโยบายก็ต่างกัน ถ้าราคาน้ำมันโลกลดลง เงินเฟ้อไทยก็ค่อยๆดีขึ้น ทำให้แบงก์ชาติยังรอที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยโลกและของไทยนั้น เฟดตั้งเป้าหมายจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อลงให้ได้ ฉะนั้น เมื่อเราเป็นนักลงทุนในพันธบัตรจะมีนัยมาก เพราะขณะนี้ ตลาดคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยที่ 3.275% แต่เฟดมองไปถึง 5.25-6% เป็นบรรทัดฐาน ฉะนั้น ตลาดจะเซอร์ไพรซ์และต้องปรับมุมมองกันอีก ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับพันธบัตรบัตรไทยทั้งที่แบงก์ชาติไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งพันธบัตร 2 ปี 10 ปี และหุ้นกู้ทั้งหมด ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ที่น่าจับตา คือ ดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยดอกเบี้ยนโยบายเคยต่ำสุดสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งและซัพไพร์มอยู่ที่ 1.25% แต่ครั้งนี้ เป็นการลดดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 0.5% ซึ่งพบว่า วิกฤตไม่ได้แรงอย่างที่คิด และ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวในขณะนี้ ฉะนั้น ก็คิดว่า แบงก์ชาติจะพยายามเอาดอกเบี้ยกลับมาที่ 1.25%ให้ได้ก่อน หมายความว่า จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% เพื่อให้ปลายปีดอกเบี้ยกลับไปอยู่ในระดับที่เคยต่ำสุด จากนั้น จะปรับไปอยู่ที่ 2-3%

“ตลาดชอบบอกว่า แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งหยุดครั้ง แต่ผมว่า จะขึ้นทุกครั้ง 0.25% กระทั่งเข้าสู่เป้าหมายที่เป็นเซฟโซนของเขาและจะสอดรับว่า กลางปีหน้าท่องเที่ยวจะดีขึ้น จากนั้น จะต้องจับตามองเรื่องเงินบาท ซึ่งมาจากส่วนต่างของดอกเบี้ย”

สำหรับการลงทุนในระยะต่อไป ปีข้างหน้า ถือว่า ยังเป็นมรสุมเศรษฐกิจ แนะนำให้รัดเข็มขัด ซึ่งเตือนมาตลอดเวลา เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย และวันนี้ ก็มีสหรัฐกับจีนร่วมด้วย ก็เป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะประเทศขนาดใหญ่มีปัญหาระหว่างกัน จะกระทบต่อประเทศขนาดเล็ก แต่วิกฤติพลังงานและอาหารเริ่มดีขึ้น ความปั่นป่วนก็ผ่านไปมากแล้ว ฉะนั้น การเตรียมตัวที่ดี คือ ทางออก โดยให้รักษาตัวไว้ให้ดี เพื่อจะมีโอกาสในการลงทุนระยะต่อไป