"สตาร์ทอัพ" สายพันธุ์ใหม่ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงมีโอกาสรุ่งในยุคโควิด

"สตาร์ทอัพ" สายพันธุ์ใหม่ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงมีโอกาสรุ่งในยุคโควิด

"กระทิง พูนผล" เปิดข้อมูลชี้ "สตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" กำลังเข้าสู่ "ยุคทอง" พร้อมสรุปคุณสมบัติ "สตาร์ทอัพ" สายพันธุ์ใหม่ ที่มีโอกาสรุ่งในปี 2022 และอนาคต

อีก 10 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2572) ยุคหลังโควิด จะมียูนิคอร์นอย่างต่ำอีก 20 ตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังสะท้อนวิวัฒนาการของจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

กระทิง พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks ได้เล่าถึงคำพยากรณ์ของ Asia Partners หนึ่งใน Venture Capital รายใหญ่ที่จัดตั้งโดยผู้ก่อตั้ง Garena และ Sea ที่กล่าวถึงแนวโน้มของสตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตอันใกล้ไว้ในงาน "Inclusive Growth Days empowered by OR" หัวข้อ "Impact Innovation" เมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าแค่ "ยูนิคอร์น" ที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเบื้องหลังของธุรกิจสตาร์ทอัพนับแต่วินาทีนี้จะต้องปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และเป็นให้ได้มากกว่าแค่ธุรกิจที่ทำกำไรอย่างก้าวกระโดด

เนื่องจากปัจจุบันทุกคนกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่เรียกว่าเป็นคลื่นใหญ่ลูกแรกเท่านั้น ขณะที่คลื่นลูกที่สองคือการถดถอยของเศรษฐกิจ และคลื่นลูกใหญ่ที่จะซัดมาอีกระลอกที่ใหญ่ที่สุดและหลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องของ "ภาวะโลกร้อน" ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

โดยหนึ่งในรูปแบบที่โดดเด่นคือ Impact Innovation ที่เป็นการสร้างนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคน ไม่ใช่แค่สร้างกำไรเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ด้วย

  •  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ "ยุคทอง" 

"สิ่งที่ตัวเลขบอกคือ เราอยู่ถูกที่ถูกเวลา เราอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด เราอยู่ในจุดที่ดีที่สุดด้วย เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ยุคทอง"

มุมมองของ "กระทิง" ที่เห็นว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่วิกฤติ แต่ยังมีโอกาสให้ไขว่คว้า โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่ม "สตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่กำลังอยู่ในความสนใจของ Venture Capital ระดับโลก

สะท้อนจากตัวเลขการลงทุน Venture Capital อันดับหนึ่งของโลกที่ลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็เห็นโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใส่เงินลงทุนในภูมิภาคนี้ในปี 2563-2564 ผ่าน Venture funding มูลค่าทุนกว่า 850 ล้านดอลลาร์ 

"สิ่งที่หลายคนเห็นคือวิกฤติ แต่กองทุนระดับโลกเห็นโอกาส ด้วยหลากหลายปัจจัยประกอบกันเป็นโอกาส ยุคทองของ Impact Investment และ Impact Innovation"

ในอดีตเขาบอกว่าสตาร์ทอัพต้อง Repeatable, Scalable และ Growth คือการทำสูตรซ้ำๆ และเติบโต แต่ปัจจุบันสตาร์ทอัพต้องเป็น Repeatable, Scalable Profitable, Responsible และ Sustainable ด้วย 

สะท้อนจากสตาร์ทอัพที่เริ่มปรับตัวในการมีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น นโนบาย Net Zero นโนบายลดการใช้พลังงาน นโยบายสมาร์ทแอนด์กรีนซัพพลายเชน นโยบายเกี่ยวกับ Bio , Circular ฯลฯ อย่างจริงจัง 

"สตาร์ทอัพ" สายพันธุ์ใหม่ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงมีโอกาสรุ่งในยุคโควิด

  •  สตาร์ทอัพแบบไหนที่มีโอกาสรุ่ง ? 

แม้จะยังโอกาสอยู่มาก แต่ก็ใช่ว่าสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จกันง่ายๆ โดย "กระทิง" ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ และเติบโตในอนาคต จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้

- Impact & purpose driven 
สร้างผลกระทบ และขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายอะไรบางอย่าง ที่ไม่ใช่แค่เติบโต ผลตอบแทนดี แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับโลก ให้ภูมิใจได้ เพราะคนรุ่นใหม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ 

- Capital efficiency
ใช้เงินของนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในอนาคตเงินจะไม่ได้มากเหมือนเดิมอีกแล้ว

- Disruptive 
สร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจเดิม รวมถึงสามารถสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อผลักดันตามเป้าหมายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้มากขึ้น 

- Profitable Growth 
สร้างการเติบโตที่มีกำไรได้ไปพร้อมๆ กับการไปถึงเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลก 

- Customer Obsession
สามารถตอบสนองความปรารถนาของลูกค้าได้

- Tech Savvy 
มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

  •  ผู้ลงทุนมองหาสตาร์ทอัพแบบไหน ? 

นับจากนี้ผู้ลงทุนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการมากกว่าผลกำไรอย่างเดียว แต่ยังมองหาสิ่งเหล่านี้จากสตาร์ทอัพต่างๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น มีความรับผิดชอบต่อสังคม, มีความยั่งยืน, สร้างผลกระทบในภาคธุรกิจ, กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก Scaling Impact In Asia and Accenture (2022) ที่พบว่านิวเจนเนอเรชันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่าตนเองต้องการเป็นส่วนหนึ่งใน Green Economy ถึง 77% 

รวมถึงข้อมูลเงินทุนที่ลงทุนมาใน Impact Investment สูงขึ้น 26% ต่อปีท่ามกลางวิกฤติโควิดอีกด้วย