"กอบศักดิ์" ชี้ ศก.สหรัฐเข้าสู่ Recessionในที่สุด เหตุเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

"กอบศักดิ์"  ชี้ ศก.สหรัฐเข้าสู่ Recessionในที่สุด เหตุเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

กอบศักดิ์ ภูตระกูล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ สหรัฐคงจะเข้าสู่ภาวะ Recession ในที่สุด เหตุ เฟดกำลังขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้สงครามกับเงินเฟ้อ  ส่งผลการซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อของใช้ การลงทุนเอกชนต่างๆ ก็จะลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนตัวลงมากกว่านี้  แนะ เร่งเตรียมการรองรับ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้ )โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า Recession - เศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ !!!

 ขณะนี้ ที่สหรัฐกำลังถกเถียงกันอย่างดุเดือด ตกลงว่า การที่ GDP ไตรมาส2 ปี 2565ของสหรัฐออกมาติดลบ -0.9% !!!! ต่ำเกินความคาดหมายของตลาด ซึ่งเคยอยู่ที่ 2-3% เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม และล่าสุดลดมาอยู่ที่ 0.4-0.5% ก่อนประกาศตัวเลข นั้น
 

เราต้องกังวลใจแค่ไหน ต้องกังวลหรือไม่  เพราะข้างหนึ่ง บอกว่าเป็น Technical Recession แล้ว เนื่องจากติดลบต่อกัน 2 ไตรมาส   ส่วนอีกข้าง นำด้วยคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของท่านประธานาธิบดีไบเดน และท่านประธานเฟด บอกว่า "ยังไม่ถดถอย" เพราะคำจำกัดความจริงๆ ของเศรษฐกิจถดถอย ก็คือ ต้องแย่ไปหมดเกือบทุกอย่าง อย่างต่อเนื่อง (ฺSignificant decline in economic activity that is spread across the economy and that lasts more than a few months.)

 ขณะนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐยังทำงานได้ดี มีการสร้างงานใหม่ ซึ่งถ้าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งขนาดนี้ ก็ต้องบอกว่า ไม่น่าจะเป็น Recession สองค่ายนี้กำลังถกเถึยงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

"กอบศักดิ์"  ชี้ ศก.สหรัฐเข้าสู่ Recessionในที่สุด เหตุเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนตลาดหุ้นก็ดีใจ เพราะถ้ามี Recession เฟดก็คงไม่ขึ้นดอกเบี้ย ตีความว่า "ข่าวร้ายของเศรษฐกิจ คือ ข่าวดีของเรา" Bad news is good news !!!

โดยเมื่อวานนี้
Dow Jones +332 จุด หรือ 1%
Nasdaq +130 จุด หรือ 1%
Bitcoin +1000 จุด หรือ 4.6%

แล้วตกลงว่าเราควรเชื่อใคร ควรกังวลใจหรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ ต้องบอกว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเถียงเรื่องคำจำกัดความ  จุดสำคัญอยู่ที่ 
(1) เศรษฐกิจสหรัฐแผ่วลงมาก 
จากที่เคยขยายตัวได้ 5.7% เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวได้ 6.9% แข็งแกร่งสุดๆ ตอนนี้ ติดลบมา 2 ไตรมาสแล้ว เรียกได้ว่า เป็นหนังคนละม้วน กับเมื่อปีที่แล้ว 
เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็น ระฆังเตือนภัย  เพราะเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีปัญหา จะไม่ทำตัวแบบนี้
เสียเวลาที่จะไปเลี่ยงบาลี ไปมา บอกว่ายังไม่เข้าคำจำกัดความ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า 
ตอนนี้ ความเชื่อมั่นหาย ความกังวลใจเต็มไปหมด  
 

(2) เศรษฐกิจสหรัฐจะอ่อนแออย่างนี้ต่อไป ในไตรมาสข้างหน้า
เพราะคนไม่ใช้จ่าย ธุรกิจไม่ลงทุน !!! หากเราไปดูไส้ในของข้อมูล GDP ที่ออกมา -0.9% จะพบว่า 
- การบริโภคสินค้าต่างๆ -4.4% (ส่งผลให้ GDP -1.08%)
- หมวดสินค้าคงทน -2.6% จากความกังวลใจว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี Recession อยู่ข้างหน้า 
คนจึงชะลอการใช้จ่ายในหมวดใหญ่ๆ เช่น รถ เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ออกไป
- หมวดสินค้าไม่คงทน -5.5% จากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้าน
- การลงทุนภาคเอกชน -13.5% (ส่งผลให้ GDP -2.73%) 
- หมวดก่อสร้างในโรงงานอาคารต่างๆ -11.7% จากการชะลอการลงทุนของเอกชนเพื่อรับกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอลง
- หมวดอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ -2.7% ที่เริ่มสั่งซื้อลดลง เพราะช่วงต่อไปไม่ต้องขยายกำลังผลิตและกิจการ
- หมวดการสร้างบ้าน -14.0% สอดรับกับการปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงขาลง
- หมวดสินค้าคงคลัง ที่เป็นผลมาจากการลดลงของยอดการขายสินค้าต่างๆ รวมถึงยานยนต์ 
ทั้งหมดนี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐติดลบในไตรมาส2

ทั้งๆ ที่ ภาคส่งออกสหรัฐขยายตัวดีเป็นพิเศษ +18.0% (ส่งผลให้ GDP +1.92%)
หากลองคิดดู ที่น่ากังวลใจจริงๆ คือ ตัวเลขหมวดเหล่านี้จะยังอ่อนแอต่อไป 
เพราะคนจะยังไม่ใช้จ่าย ธุรกิจจะยังไม่ลงทุน ไปอีกระยะในช่วงขาลง  ซึ่งเมื่อ Global Recessions ส่งผลต่อภาคส่งออกสหรัฐ ความอ่อนแอของสหรัฐก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้น

 
(3) สหรัฐคงจะเข้าสู่ภาวะ Recession ในที่สุด
ไม่วันนี้ ก็วันหน้า  เป็นเพียงแค่เวลาเท่านั้น ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะ เฟดกำลังขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้สงครามกับเงินเฟ้อ โดยดอกเบี้ยยังจะขึ้นไปอีกมาก เพื่อสยบเงินเฟ้อที่สูงลิ่วที่ 9.1%
เมื่อดอกเบี้ยขึ้นสูง การซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อของใช้ การลงทุนเอกชนต่างๆ ก็จะลดลงเป็นเงาตามตัว

ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนตัวลงมากกว่านี้ คนตกงาน บริษัทปิดกิจการ   เป็นเรื่องที่เฟดบอกว่า "จำเป็น" เพื่อจัดการเงินเฟ้อสุดท้าย เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แบบที่ไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า ตรงกับคำจำกัดความแล้วหรือยัง  พูดได้ว่า ป่วยการที่จะมาเถียงกันแบบเด็กๆ เรื่องคำจำกัดความ  มารับความจริงกันว่า "ขาลงกำลังมา" ร่งเตรียมการรองรับในเวลาที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์กว่า เพราะถ้าเราใช้เวลาที่เหลือ เตรียมการให้ดี เราก็จะผ่านไปได้ ครับ