คลังคงจีดีพีปีนี้ที่ 3.5% ชี้ท่องเที่ยว - บริโภคในประเทศหนุน

คลังคงจีดีพีปีนี้ที่ 3.5% ชี้ท่องเที่ยว - บริโภคในประเทศหนุน

คลังคงจีดีพีปีนี้ที่ 3.5% ชี้ปัจจัยหนุนหลักจากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่ ติดตามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างใกล้ชิด

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยว่า สศค.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ว่าจะขยายตัวได้ 3.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน และนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

สำหรับการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.7% จากเดิมคาด 6% ด้านการนำเข้าที่ 17.5% จากเดิมคาด 11.3% ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดว่าจะขาดดุล 8.1 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดว่าจะขาดดุล 4.4 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 5.7% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 4.5% และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 1.6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.6%

การบริโภคภาคเอกชนปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 4.8% จากเดิมคาดจะขยายตัว 4.3% และการบริโภคภาครัฐติดลบ 0.9% จากเดิมคาดจะติดลบ 0.2% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 6.5% จากเดิมคาด 5% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 2.3% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาด 1.9%

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง หากราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามคือ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน และรัสเซีย ที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผ่านไปยังต้นทุนของครัวเรือน และภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นสูงต่อเนื่อง และภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว

ขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและอาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมถึงต้องติดตามเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักและจีน ประกอบกับหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีน ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ก็จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต และส่งเชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตและการค้าทั่วโลก

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจคู่ค้า 15 ประเทศ ขยายตัวได้ 3.3% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน จากสถานการณ์รัสเซีย และยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอน นโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ ประกอบกับมาตรการซีโร่โควิดของทางการจีนด้วย

2.สมมติฐานด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่จะส่งผลต่อค่าเงินบาทคือ การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายระยะยาวที่ 2%

ในกรณีของไทยในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีนโยบายจากภาครัฐผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อได้ โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่อง เสถียรภาพการเงินการคลังอยู่ในเกณฑ์ดี และอาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

3.สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 69.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และประเมินว่าราคาน้ำมันในปี 66 จะมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 65 สาเหตุสำคัญจากอุปทานน้ำมันตึงตัว จากสถานการณ์รัสเซีย และยูเครน และมีมาตรการคว่ำบาตรของประเทศพันธมิตร ทำให้อุปทานน้ำมันรัสเซียลดลง

4.สมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 8 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 1,779% จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยว 4 แสนคน อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ BA.4-BA.5 และการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร

รวมถึง แนวทางการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย และต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น การผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศของจีน รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยถูกลง

ด้านรายได้นักท่องเที่ยวปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,043% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 0.04 ล้านล้านบาท

5.สมมติฐานด้านรายจ่ายภาคสาธารณะการเบิกจ่ายงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท คาดเบิกจ่ายได้ 2.91 ล้านล้านบาท

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย. ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้มาเยี่ยมเยือนชาวไทย ประกอบกับรายได้เกษตรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน

โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 7.66% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.51% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 60.9% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่ยังส่งผลกระทบต่อระดับราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิ.ย. ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค รวมทั้ง การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นในภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการผ่อนคลายของสถานการณ์โควิด-19

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์