‘ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง’ เติมพอร์ตสินค้า นำร่องนม “หนองโพ” เล็งเพิ่มแบรนด์ใหม่

‘ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง’ เติมพอร์ตสินค้า นำร่องนม “หนองโพ” เล็งเพิ่มแบรนด์ใหม่

'ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง' เดินกลยุทธ์สร้างการเติบโต ลุยเติมพอร์ตโฟลิโอสินค้าอุปโภคบริโภคเสริมความแข็งแกร่ง ประเดิมนำนม "หนองโพ" กลับมาสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกครั้ง ครึ่งปีหลัง จ่อปิดดีล 2-3 แบรนด์ใหม่ เพื่อคิกออฟทำตลาดปีหน้า ปักธงยอดขายเติบโตร้อนแรงต่อเนื่อง

“ตลาดสินค้าอุปโภค” เป็นอีกเซ็กเตอร์ที่มีมูลค่าตลาดมหาศาล การเติบโตมักสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) แต่หากเจาะเป็นหมวดหมู่สินค้า ช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้บางหมวด “หดตัว”

ขณะที่ผู้เล่นในตลาดสินค้าจำเป็นมีมากหมาย หนึ่งในรายที่ทำตลาดยาวนานถึง 45 ปี คือ “ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง” เสาหลักสำคัญของ “ล็อกซเล่ย์” ซึ่งปี 2565 บริษัทยังเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อเนื่อง

สุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโต 30% ต่อเนื่อง และปี 2565 ยังตั้งเป้าตัวเลขเดิมเป็นปีที่ 4 โดยแรงส่งสำคัญคือการหาแบรนด์และสินค้าใหม่เติมพอร์ตโฟลิโอ

ล่าสุด คือการบรรลุข้อตกลงในการเซ็นสัญญาตั้ง “ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง” เป็นตัวแทนจำหน่ายนมยูเอชที “หนองโพ” อีกครั้ง หลังหมดสัญญาไปเมื่อ 5 ปีก่อน

การเป็นพันธมิตรรอบใหม่ จึงวางเป้าหมายผลักดันการเติบโตเต็มสูบผ่านอาวุธการตลาดครบครัน เริ่มจากการลุยจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไปให้เติบโตเป็น “เท่าตัว” จากจุดแข็งของบริษัทที่มีเครือข่ายร้านค้าปลีกค้าส่งที่มีศักยภาพทั่วไทยกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ

ตลาดนมพร้อมดื่มยูเอชทีมีมูลค่าหลัก “หมื่นล้านบาท” 3 ปีที่ผ่านมา “ติดลบ” บ้าง 1% และ 3% ต่อปี เพราะตลาดเครื่องดื่มมี “ทางเลือก” จำนวนมาก เกิดการชิงแชร์การบริโภค(Share of Throat)จากกลุ่มเป้าหมาย แต่การทำตลาดเชิงรุก เชื่อว่า “หนองโพ” จะเติบโตได้ตามเป้า

“เราเคยสร้างยอดขายให้นมหนองโพราว 400 ล้านบาท แต่การผนึกกำลังอีกครั้ง จะสร้างการเติบโตกว่าเดิม รวมถึงมองหาโอกาสต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆสู่ตลาด ตอบสนองผู้บริโภคเพิ่ม เพระหนองโพ ยังมีสินค้าหมวดอื่นที่มีศักยภาพบุกตลาด”

นอกจากนมยูเอชที “หนองโพ” บริษัทยังได้เครื่องปรุงรสจากฮ่องกงเสริมแกร่ง ทั้งซอสหอยนางรมตราลีกุมกี่ แพนด้า ตราลีกุมกี่โอลด์ รวม 30 รายการ(SKUs) จากสินค้าของพันธมิตรมีราว 200 รายการ และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟัน “จอร์แดน”

หลังจากนี้ไป บริษัทจะเซ็นสัญญาเติมพอร์ตสินค้าใหม่อีก 2-3 รายการ โดยยังเน้นหมวดเกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับจุดแข็งของบริษัท ซึ่งมีน้ำมันพืช น้ำปลา กะปิ ฯ ที่สามารถนำเสนอแก่ร้านค้าและผู้บริโภคได้ครบครัน

สุรช กล่าวอีกว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด สินค้าจำเป็นในพอร์ตโฟลิโอ “ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง” มีการขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชกุ๊กโตเป็น 1,000% กะปิตราชูตราชั่งขายดี 2-3 เท่าตัวจนขาดตลาด รวมถึน้ำปลาตราชั่ง ฯ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน นิยมประกอบอาหารที่บ้านมากขึ้น

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนตั้งแต่กลางปี 2563 การประกอบอาหารทานเองที่บ้าน ทำให้น้ำมันพืช กะปิ ขายดีมาก”

สำหรับแนวโน้มตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคครึ่งปีหลัง ยังคาดการณ์จะมีการเติบโตได้ แม้มีความเปราะบางด้านการเผชิญภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ถดถอย

“สินค้าอุปโภคบริโภคที่บริษัททำตลาดอยู่ ยังไม่มีแนวโน้มจะดร็อปลงแต่อย่างใด แม้กำลังซื้อผู้บริโภคจะชะลอตัว บริษัทไม่ได้กังวลมากนัก เพราะสินค้าที่เราจำหน่ายไม่ใช่สินค้าไฮเอนด์ แต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค”

จากการบุกตลาดกล่าว บริษัทจึงคาดการณ์ยอดขายเติบโต 30% จากปี 2564 มียอดขายราว 2,885 ล้านบาท โดยสินค้าหลักน้ำมันกุ๊ก กะปิ น้ำปลาตราชั่ง สแน็กกรีนนัท ที่ทำเงินสัดส่วนกว่า 90% ส่วนสินค้าใหม่ที่เสริมพอร์ตต้องการให้ทำเงินสัดส่วน 15% 

แม้ภาพรวมจะมีแรงส่งให้บริษัทเติบโต แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในปีนี้ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือสถานการณ์ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึง “ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า” ในฐานะที่บริษัททำ “เทรดดิ้ง” จึงกระทบต่อการนำเข้าสินค้า ขณะเดียวกันสินค้าจำเป็นอย่าง “น้ำมันถั่วเหลือง” เผชิญต้นทุนพุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม จึงยังขยับราคาไม่ได้ แต่ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้ดำเนินการยื่นกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอไฟเขียวปรับราคาแล้ว

ปัจจุบันกลยุทธ์การขายและบริการผ่านหน่วยรถเงินสด(Cash van)ของล็อกซเล่ เทรดดิ้ง ได้ใช้ศักยภาพของพันธมิตรอย่างบุญรอดเทรดดิ้ง เป็นผู้ดำเนินการ