ทุนไทยรื้อแผนธุรกิจใน“เมียนมา” กังวลถูกระงับจ่ายหนี้ดอลลาร์

ทุนไทยรื้อแผนธุรกิจใน“เมียนมา” กังวลถูกระงับจ่ายหนี้ดอลลาร์

“เมียนมา” ระงับจ่ายหนี้สกุลดอลลาร์ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชี้กระทบทุนไทย เผยออกเกณฑ์คุมการเงินต่อเนื่อง ฉุดลงทุนใหม่ “พาณิชย์" ประสานแบงค์ไทยกู้เงินแทนแบงก์เมียนมา “เอ็กซ์ซิมแบงก์” ยืดเวลาชำระหนี้ ลดวงเงินเครดิต “โออาร์” ขอชำระด้วยเงินสด “โอสถสภา” เดินหน้าธุรกิจ

แนวโน้มการลงทุนในเมียนมาสะดุดลงอีกครั้งเมื่อธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ออกประกาศให้มีการระงับชำระหนี้ที่เป็นหนี้สกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นการออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมามีการออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564

ที่ผ่านมาเมียนมาเคยเป็นดาวเด่นของอาเซียนในการเปิดรับการลงทุนภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2553 ซึ่งนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายธุรกิจหลาบยฉบับโดยเฉพาะกฎหมายการลงทุน และทำให้บริษัทไทยหลายรายเข้าไปลงทุนในเมียนมา จนกระทั่งล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2565 มียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยในเมียนมา 4,839 ล้านดอลลาร์

สำหรับ บริษัทไทยที่มีธุรกิจในเมียนมาประกอบด้วย “กลุ่มเครื่องดื่ม” ที่ตั้งโรงงานในเมียนมา อาทิ บริษัท โอสถสภา หรือ OSP ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังล่าสุดลงทุนโรงงานผลิตและจัดหน่ายขวดแก้ว ,บริษัท คาราบาวกรุ๊ปหรือ CBG ประกอบธุรกิจผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่นๆ

กลุ่มค้าปลีก”บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์หรือ MEGA โดยเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในเมียนมา , บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ หรือ GLOBAL ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างวัสดุตกแต่งบ้าน มีสาขา1-2แห่ง

“กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” บริษัท ซีฟโก้หรือ SEAFCO และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์หรือ ITD ซึ่งก่อนหน้านี้เข้าร่วมการประมูลในโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก “กลุ่มพลังงานทดแทน”บริษัท สแกน อินเตอร์หรือ SCN , บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่นหรือ META , บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF , บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่หรือ GPSC

ออกกฎคุมการเงินต่อเนื่อง

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า สถานการเศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกทั้งผลกระทบจากผลสงครามยูเครน-รัสเชีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเมียนมาที่มีความเปราะบาง โดยสภาพของกระแสเงินสดในท้องตลาดที่ไม่อยู่ในสภาพที่คล่อง ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลงอย่างมีนัยยะ

ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาได้ออกหลายมาตรการ โดยในเดือน ก.พ.2565 ออกกฎระเบียบการห้ามนำเข้าสินค้า 6 ประเภทเข้ามาทางชายแดน เพื่อลดการขาดดุลการค้า และเดือน พ.ค.2565 ออกมาตรการให้ประเทศต่างๆที่มีเงินฝากหรือเงินชำระค่าสินค้าที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ ให้แลกเป็นเงินจ๊าดภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการพยุงมิให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถดถอยน้อยลงได้

ดังนั้น ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา จึงประกาศให้ทุกภาคส่วนระงับการชำระหนี้ที่เป็นหนี้สกุลดอลลาร์ แต่ยังผ่อนปรนให้มีการใช้นโยบายบาท-จ๊าด และหยวน-จ๊าดในการดำเนินการค้าชายแดน ซึ่งระเบียบการดังกล่าวอาจกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อการค้า-การลงทุนของธุรกิจไทย

นายกริช กล่าวว่า ด้านลบอาจส่งผลต่อนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนทางตรงในเมียนมาที่มีการกู้ยืมเงินเข้าไปลงทุน อีกทั้งการส่งเงินกลับมายังไทยในรูปของคืนเงินกู้ยืมและดอกผลที่ได้รับ ในขณะที่การค้าชายแดนที่ใช้เงินบาท-จ๊าดทำการค้าอยู่นี้จะไม่ได้ส่งผลในทางลบ แต่อาจจะส่งผลทางบวกที่การแข่งขันจากชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้มีพรมแดนติดกับเมียนมาที่ไม่มีการใช้นโยบายทางการเงินดังเช่นไทย-เมียนมา หรือจีน-เมียนมาได้ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นโอกาสในการดำเนินการทางธุรกิจได้

“สำหรับนักธุรกิจที่หน้าใหม่ที่กำลังจะเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา ซึ่งปัจจุบันนี้มีน้อยมาก จึงคิดว่าไม่น่าจะมีผลอะไรในการตัดสินใจ”นายกริช กล่าว

 

กระทบลงทุนใหม่ในเมียนมา

นายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวกระทบต่อการลงทุนใหม่ในเมียนมาที่จำเป็นต้องใช้เงินกู้จากต่างประเทศ รวมถึงบริษัททั้งในและต่างประเทศในเมียนมาที่มีเงินกู้เป็นเงินสกุลต่างประเทศที่จะต้องชำระเจ้าหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้เงินสกุลต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาได้

นายธนวุฒิ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วและครอบคลุมทุกบริษัทที่มีเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศในเมียนมา ที่จะไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้จากธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาไปยังเจ้าหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินจากต่างประเทศ เพื่อใช้ชำระหนี้เงินกู้แทนการชำระจากเมียนมาเพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้

ส่วนผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจในเมียนมาและกู้เงินเป็นสกุลต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวต้องหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในไทยหรือต่างประเทศ เพื่อใช้ชำระเงินกู้สกุลต่างประเทศแทนการชำระคืนเงินกู้โดยใช้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง จะเป็นตัวกลางประสานธนาคารพาณิชย์ไทยในการจัดหาวงเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยในเมียนมาที่จำเป็นต้องชำระเงินกู้ต่างประเทศ สามารถใช้วงเงินกู้จากไทยหรือต่างประเทศในการชำระหนี้ต่างประเทศ แทนการใช้ธนาคารพาณิชย์เมียนมาได้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้น

‘อาคม’ ขอประเมินสถานการณ์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมาประกาศให้ภาคธุรกิจและผู้กู้รายย่อยระงับการชำระหนี้ต่างประเทศนั้น ต้องขอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง แต่ยืนยันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง 

ส่วนเงินบาทเทียบดอลลาร์อ่อนค่าใกล้แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิด

“โออาร์”ขอชำระเป็นเงินสด

นายรชา อุทัยจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) กล่าวว่า จากกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราวเพื่อต้องการรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น การดำเนินธุรกิจของ OR ในเมียนมาได้รับผลกระทบน้อยมาก ประกอบด้วย

1.กิจการดำเนินการโดย OR ไม่มีภาระในการชำระหนี้เงินกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ 2.กิจการร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน จำนวนรวม 9 สาขา ได้มีการสั่งซื้อสินค้าจากเมืองไทย เป็นสินค้า Supply use มีมูลค่าการสั่งซื้อไม่สูงและเงื่อนไขการซื้อขายแบบชำระเป็นเงินสด 3.ปริมาณการซื้อน้ำมันจาก OR เพื่อนำไปใช้ในพม่าไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อผลประกอบการของ OR

‘โอสถสภา’เจรจาแบงก์

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OSP เปิดเผยว่า ธุรกิจของบริษัทในเมียนมายังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ อีกทั้งการลงทุนในเมียนมาเป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในประเทศไทยและสถาบันการเงินในเมียนมา ซึ่งการชำระหนี้จะเจรจากันภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างบริษัทและสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ทางการเงินจะมีความผันผวนด้านค่าเงิน หรือ อัตราการแลกเปลี่ยน แต่ธุรกิจของบริษัทยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายในเมียนมาทำได้หลายสกุลเงินมากขึ้น ทำให้บริษัทบริหารจัดการทางการเงินได้หลากหลายขึ้นเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

โบรกฯ ประเมินผลกระทบจำกัด 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นแรงกดดันสร้างความกังวลในภาพรวมจนส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นปรับตัวลงวานนี้ (19 ก.ค.) แต่คาดประเด็นนี้กระทบตลาดหุ้นไทยระยะสั้นและจำกัด เพราะเมียนมาเป็นคู่ค้าลำดับ 35 ของไทย หรือมีมูลค่าการค้ากับไทยเพียง 0.85% ขณะเดียวกัน บจ.ไทยมีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาไม่มากหรือยังไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กรณีเมียนมาระงับชำระเงินกู้ต่างประเทศและห้ามนำเข้าสินค้าไม่จำเป็นบางรายการ แต่ยังอนุญาตให้ใช้เงินบาทและหยวนตามชายแดน โดยที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาออกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้ามาตลอดทำให้หุ้นที่มีธุรกิจในเมียนอย่าง OSP CBG TVO MEGA ถูกกดดันจาก Sentiment ลบ 

"เอ็กซิมแบงก์’ เตรียมมาตรการ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังไม่พบลูกค้าของธนาคารที่ลงทุนในเมียนมาได้รับผลกระทบ โดยธนาคารพร้อมดูแลลูกค้าที่กู้เงินไปทำธุรกิจในเมียนมาผ่านการขยายเวลาชำระหนี้ เช่น เดิมต้องมาชำระทุกเดือนก็ขยายเวลาเป็นชำระหนี้ทุก 3 เดือน/ครั้ง หรือ 6 เดือน/ครั้ง เพื่อรอให้สถานการณ์วิกฤติค่าเงินจ๊าดในเมียนมาคลี่คลายลง

นอกจากนี้ นักธุรกิจในเมียนมาส่วนใหญ่มีบัญชีต่างประเทศ ฉะนั้นการชำระหนี้ไม่ได้ทำในเมียนมา โดยส่วนใหญ่ชำระหนี้ผ่านสิงคโปร์ เพราะนักธุรกิจเมียนมาส่วนใหญ่มีฐานที่สิงคโปร์ รวมทั้งเอ็กซิมมีลูกค้าที่ลงทุนในเมียนมา 7 ราย มูลค่าราว 2 พันล้านบาท โดยจำนวน 4 ราย ลงทุนธุรกิจพลังงานไม่ได้มีปัญหา ส่วนกลุ่มอุปโภคบริโภค 3 ราย กำลังปรับงวดการชำระเงินให้เริ่มตั้งแต่ 3-6 เดือน/ครั้ง แต่ตอนนี้ทั้ง 3 ราย ยังบริหารจัดการได้