เอสซีจีร่วมมือ 300 องค์กรพันธมิตร ผลักดันโรดแมปสู่เน็ตซีโร่

เอสซีจีร่วมมือ 300 องค์กรพันธมิตร ผลักดันโรดแมปสู่เน็ตซีโร่

เอสซีจีจัดสัมมนาใหญ่ ESG Symposium 2022 ครั้งที่ 11 ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนมุ่งรับมือวิกฤติซ้ำซ้อน ผลักดันแผนจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการระดมความรู้ทั่วโลก และผนึกกำลังเครือข่ายเอกชนประกาศคำมั่นเดินหน้าธุรกิจอย่างยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมองแนวทาง ESG เป็นทางรอดที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ อาหารขาดแคลน พิษโควิด ปัญหาเงินเฟ้อ และราคาพลังงานพุ่ง โดยการจัดงาน ESG Symposium ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลักดันความร่วมมือจากเครือข่ายระดับโลกเชื่อมโยงสู่ระดับประเทศ โดยมุ่งให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์ที่มีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนเริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งได้ลงมือทำแล้ว ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ตลอดจนมีความร่วมมือเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวยังไม่ทันต่อวิกฤติโลกที่ทวีความรุนแรง และใกล้ตัวมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ สภาพอากาศแปรปรวนในปีนี้ที่เกิดขึ้นทั้งในไทย และยุโรป ภัยแล้ง น้ำท่วม ทรัพยากรที่เริ่มไม่เพียงพอ เกิดภาวะวิกฤติอาหาร และพลังงานขาดแคลนทั่วโลก นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาอีกระลอก และโรคระบาดใหม่ที่พร้อมก่อตัว รวมถึงเงินเฟ้อ ความยากจนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

“การจัดงาน ESG Symposium 2022 ในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้น และทันต่อวิกฤติโลก ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคมเหลื่อมล้ำ (Social) โดยยึดถือความโปร่งใส (Governance) เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกการดำเนินงาน”

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า จากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022ได้ข้อสรุป 2 แนวทาง ที่นำไปสู่การขยายผล และการลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ได้แก่ 
 

1.จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ Net Zero โดยมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อเร่งทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา 4 เทคโนโลยี ดังนี้ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS - Carbon Capture, Utilization and Storage), การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก (Fuel Switching), พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และระบบพลังงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง (Hydrogen Economy) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้

2.การผนึกกำลังเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน 60 องค์กร ที่ประกาศคำมั่นสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการจัด CEO Forum โดยได้ข้อสรุปในการหาทางออก 3 มิติ ได้แก่ มุ่งสร้างสังคมพิชิตพลังงานทางเลือก โดยการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และกระบวนการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน สังคมไร้ขยะ การพัฒนาวัสดุ และสินค้าให้สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ 100% และสังคมการบริโภคอย่างยั่งยืน ให้เกิดการตระหนักถึงการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบเริ่มจากการคัดแยกขยะ โดยปัจจุบันมีองค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรที่ร่วมเดินไปสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่แล้วกว่า 300 องค์กร อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)

นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงความคิดเห็นของเอกชนสู่ความร่วมมือกับภาครัฐให้เกิดการกำหนดแผนแม่บทที่เอื้อให้เกิดการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งความร่วมมือในโครงการต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน

เอสซีจีร่วมมือ 300 องค์กรพันธมิตร ผลักดันโรดแมปสู่เน็ตซีโร่ ความยั่งยืนในบริบทอาเซียน
H.E. Dato Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability” หัวข้อ “Towards a resilient ASEAN Community” ว่า การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม วิกฤติดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ทำให้อาเซียนได้รับความสนใจจากนักลงทุนในด้านเทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก รวมทั้งทำให้ประชาคมอาเซียนได้หันกลับมาโฟกัสที่เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม มีความยืดหยุ่น และยั่งยืน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสิ่งที่ทั่วโลกจำต้องเผชิญร่วมกันคือ วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยจากรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 11% ในสิ้นศตวรรษนี้

วิกฤติดังกล่าว จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งหาสมดุลระหว่างการเติบโตในอนาคต และความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยประชาคมอาเซียน หน่วยงานสหประชาชาติ และภาคีนอกอาเซียนได้ร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อน ASEAN Community Vision 2025 ทั้งหมด 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การขจัดความยากจน 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง 3.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน 4.การบริโภค และการผลิตอย่างยั่งยืน 5.การเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ

อีกทั้งในปีที่ผ่านมาประชาคมอาเซียนได้เริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการเกิดของเสีย สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้จะโฟกัส 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การเกษตร พลังงาน และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดรวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่ก้าวหน้าที่สุด และจะขยายผลสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์ 

เอสซีจีร่วมมือ 300 องค์กรพันธมิตร ผลักดันโรดแมปสู่เน็ตซีโร่