เอ็กซิมแบงก์เผยไม่พบลูกค้าได้รับผลกระทบจากมาตรการดูแลค่าเงินจ๊าด

เอ็กซิมแบงก์เผยไม่พบลูกค้าได้รับผลกระทบจากมาตรการดูแลค่าเงินจ๊าด

เอ็กซิมแบงก์เผย ยังไม่พบลูกค้าได้รับผลกระทบจากมาตรการดูแลค่าเงินจ๊าดจากรัฐบาลเมียนมา เพราะการชดใช้หนี้เป็นเรื่องการซื้อขาย ไม่ได้เป็นการจ่ายชำระคืนเงินกู้ ขณะที่ พร้อมยืดเวลาชำระหนี้ลูกค้าพร้อมลดวงเงินเครดิต เพื่อลดความเสี่ยงทั้งฝั่งลูกค้าและแบงก์

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)ยอมรับกรณีที่ธนาคารกลางของเมียนมาประกาศให้ภาคธุรกิจและผู้กู้รายย่อยระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ มีความน่ากังวล แต่สถานการณ์ยังไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะขณะนี้ เรายังไม่พบลูกค้าของธนาคารที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจาก คำสั่งของรัฐบาลเมียนมาที่ออกมานั้น เป็นการสั่งระงับการชำระคืนเงินกู้ ขณะที่ ธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุน จะใช้รูปแบบการชำระเงินเพื่อซื้อขาย ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ชำระคืนเงินกู้

“เราได้ติดตามสถานการณ์รอบด้านที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ และพบว่าลูกค้าของธนาคารในเมียนมาปัจจุบันยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ส่งออกไทยไม่ต้องกังวล เพราะยังไม่มีผลกระทบต่อการชำระเงินค่าสินค้า”

ส่วนผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวต่อโครงการลงทุนของคนไทย ทางธนาคารจะพิจารณาปรับงวดการผ่อนชำระเงินหรือปรับวงเงินให้เหมาะสมเป็นรายกรณี เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าเดินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด รวมทั้งยังมี Product Programs เสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน

“เราพร้อมที่จะดูแลลูกค้าที่กู้เงินเพื่อไปทำธุรกิจในเมียนมา ผ่านการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เช่นจากเดิมที่จะต้องมาชำระหนี้ทุกเดือน ก็ขยายเวลาออกไปเป็นชำระหนี้ทุก 3 เดือน/ครั้ง หรือ 6 เดือน/ครั้ง เป็นต้น เพื่อรอให้สถานการณ์วิกฤตค่าเงินจ๊าดในเมียนมาคลี่คลายลง”

ทั้งนี้ นักธุรกิจในเมียนมาส่วนใหญ่จะมีบัญชีต่างประเทศ ฉะนั้น การชำระหนี้ในหลายๆ ครั้ง ไม่ได้เป็นการกระทำในประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นการชำระหนี้ผ่านสิงคโปร์ เนื่องจาก นักธุรกิจเมียนมาส่วนใหญ่มีฐานทุนอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

ดังนั้น เราจึงอยากให้มองในมุมที่ไม่ได้แย่ เพราะการทำธุรกิจกับเมียนมานั้น ธนาคารเองก็มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี โดยเมียนมาถือเป็นประเทศที่ไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้ แต่อาจจะขอชะลอการชำระหนี้บ้าง ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ ก็เป็นภาพที่ธนาคารคุ้นชินอยู่แล้ว โดยเชื่อว่า บรรยากาศดังกล่าวนี้จะคลี่คลายลงได้

“ปัจจุบันเอ็กซิมมีลูกค้าที่ไปลงทุนในเมียนมาอยู่ 7 ราย มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ มี 4 ราย เป็นกลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนในกลุ่มอุปโภคบริโภคอีก 3 รายนั้น เราก็ปรับงวดการชำระเงินให้ เริ่มตั้งแต่ 3-6 เดือน/ครั้ง แต่ตอนนี้ทั้ง 3 บริษัทก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะเขามีวิธีการชำระเงินที่ไม่ได้ชำระเงินในประเทศที่ไปลงทุนแหล่งเดียว ยังมีวิธีการชำระเงินนอกประเทศด้วย”

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจกับเมียนมานับจากนี้ไป เราจะแนะนำลูกค้า โดยการเยียวยาหรือขยายเวลาในการผ่อนชำระเงินงวดตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ จะปรับวงเงินการให้สินเชื่อเล็กลง จากเดิมเคยให้วงเงินของการซื้อขายแต่ละครั้งเริ่มต้น 5 ล้านบาท ก็จะลดลงให้เหลืออยู่ 1 ล้านบาท แต่ให้ระยะเวลาถี่ขึ้น จาก 90 วัน เหลือ 30  วัน เพื่อเป็นการตรวจสอบความสามารถของธุรกิจด้วย  

สำหรับภาพรวมการลงทุนของไทยที่มีในประเทศเมียนมาขณะนี้มีอยู่ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวไม่ได้มากเมื่อเทียบกับการไปลงทุนในประเทศลาว ที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่น ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฉะนั้น ขนาดการลงทุนในประเทศเมียนมายังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ทั้งนี้ การลงทุนโปรเจคต่างๆ ในเมียนมาร์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.เป็นการลงทุนในส่วนของสินค้าพลังงาน โดยมีสัดส่วนเกินครึ่งของจำนวน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนนี้สามารถอุ่นใจได้ว่า ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะการชดใช้หนี้เป็นเรื่องการซื้อขาย ไม่ได้เป็นการจ่ายชำระคืนเงินกู้ ฉะนั้น คำสั่งของธนาคารกลางเมียนมา ไม่มีผลต่อการซื้อขายไป ไม่ว่าจะเมียนมาขายไปไทย หรือไทยขายไปเมียนมา เนื่องจาก ไม่ได้อยู่ในสภาพของเงินกู้ แต่อยู่ในสภาพการซื้อขาย

เขายกตัวอย่าง กรณีที่ธนาคารปล่อยกู้ให้กับโรงไฟฟ้า เช่น บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) โดยลักษณะการจ่ายเงินกู้ ไม่ได้จ่ายเป็นงวดๆ แต่เป็นการขายไฟให้รัฐบาลเมียนมา จากนั้นรัฐบาลเมียนมาก็เอาเงินใส่ในบัญชีของธนาคารเอ็กซิม ซึ่งเป็นการซื้อไฟในแต่ละเดือนจากบริษัท แล้วเราก็ไปปรับเอาส่วนที่เป็นหนี้ของเราออก แล้วทอนเงินให้บริษัทอีกที โดยลักษณะการกำหนดวงเงินเช่นนี้ทำให้ไม่อยู่ในขอบเขตที่ธนาคารกลางเมียนมาได้ออกนโยบายมา

2.ส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็น กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยในส่วนของเอ็กซิมแบงก์เองก็มีวิธีการดูแลลูกค้าที่ขายของไปแล้วเก็บเงินไม่ได้ หรือบางรายไปลงทุนในเมียนมา เช่น ลงทุนศูนย์กระจายสินค้า และมีสัญญาเงินกู้ที่จะต้องชำระหนี้ในทุกๆ เดือน ในส่วนนี้เราจะดูแลลูกค้าด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป จากเดิมที่จะต้องมาชำระหนี้ทุกเดือน ก็ขยายเวลาออกไปเป็นชำระหนี้ทุก 3 เดือน/ครั้ง หรือ 6 เดือน/ครั้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการรอให้สถานการณ์ในขณะนี้คลี่คลายลง