เปิด ‘บจ.’ รับผลกระทบหลังเมียนมาสั่งระงับจ่ายหนี้ ตปท.

เปิด ‘บจ.’ รับผลกระทบหลังเมียนมาสั่งระงับจ่ายหนี้ ตปท.

โบรกเกอร์มอง “บจ.ไทย” รับผลกระทบระดับไหน ! หลังเมียนมาสั่งระงับจ่ายหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรอง เชื่อมีผลกับไทยไม่มาก

หลังมีรายงานข่าว ว่า วานนี้ (18 ก.ค.) ธนาคารกลางเมียนมา ออกคำสั่งให้บริษัท และผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง ทำให้นักวิเคราะห์ต่างออกมาประเมินถึงผลกระทบต่อธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุน เนื่องจากมีหลายบริษัทไปทำธุรกิจในเมียนมา

บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า พบว่ามีหุ้น 6 กลุ่ม ทำธุรกิจในเมียนมา รับผลกระทบ “กลุ่มวัสดุก่อสร้าง” ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีการส่งออกสินค้าไปเมียนมา อาทิ ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก และสินค้าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ในสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายรวม โดยเป็นการค้าขายตามปกติ

ขณะที่ SCC ที่เคยมีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ 1.8 ล้านตัน/ปี ได้ยุติธุรกิจดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 63 จากข้อพิพาทกับพันธมิตรท้องถิ่น และได้เคยตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ไปแล้ว 4,335 ล้านบาท โดยปี 63 ก่อนยุติธุรกิจโรงปูนซีเมนต์ในเมียนมา SCC มีรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ในเมียนมา คิดเป็น 0.7% ของรายได้รวม ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากเมียนมาน่าจะลดลงจนแทบไม่มีนัยสำคัญต่อ SCC

“กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” มี 4 บริษัทใน Coverage ของฝ่ายวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเมียนมา ได้แก่ ITD ที่มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท และได้ถูกรัฐบาลเมียนมา ยกเลิกสัมปทานตั้งแต่ 30 ธ.ค.63 โดยที่ ITD ยังไม่ได้มีการตั้งสำรองด้อยค่าโครงการดังกล่าว เพราะยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลเมียนมาได้

NWR มีลูกหนี้ค่าก่อสร้างโรงแรมในพม่าคงค้างอีกประมาณ 191 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้จะทยอยชำระคืนเงินแก่ NWR ตั้งแต่ ธ.ค. 65 ถึง ธ.ค. 79 ตาม Projection กระแสเงินสดของโรงแรมดังกล่าวในอนาคต โดยปี 65 มีกำหนดชำระหนี้ 5 ล้านบาท

TTCL มีการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Ahlone#1 ขนาด 120MW และรับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Ahlone#1 ประมาณ 100 ล้านบาท/ปี และอยู่ระหว่างการลงทุนโรงไฟฟ้า Ahlone#2 ขนาด 388MW โดยได้รับ PPA จากรัฐบาลเมียนมา ตั้งแต่ปี 64 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้

SEAFCO มีบริษัทลูกในเมียนมาคือ SEAFCO (Myanmar) โดยถือหุ้น 80% ปัจจุบันไม่มีการรับงานในเมียนมาแล้ว โดยมีเครื่องจักรทำเสาเข็ม 3 ชุด รถเครน 4 คัน และรถแบ็คโฮ ที่รอขายหรือนำกลับประเทศไทย

“กลุ่มเครื่องดื่ม” หุ้น OSP โดยพิจารณายอดขายปี 54 ราว 2.7 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศประมาณ 4.3 พันล้านบาท (สัดส่วน 16% ของยอดขาย, +17% YoY) ส่วนใหญ่มาจากเมียนมา จึงประเมินยอดขายจากเมียนมาอยู่ในระดับ 10% ของยอดขาย ซึ่งส่วนนี้หลักๆ แล้วขายเป็นสกุลเงินเมียนมา ผ่าน บริษัทย่อยในเมียนมา (OSP ถือหุ้นรวมกัน 85%)

“กลุ่มธนาคารและการเงิน” หากอิงจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังเมียนมาราว 1% ของมูลค่าการส่งออก เบื้องต้นจึงประเมินผลส่วนนี้จำกัด ส่วนหุ้นในกลุ่มการเงิน อย่าง AEONTS (ราคาเป้าหมาย 250 บาท) จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะหลังจากรัฐประหารในพม่าเมื่อ ก.พ.64 AEONTS ก็ได้หยุดปล่อยสินเชื่อในพม่าแล้ว จนปัจจุบันแทบไม่มีสินเชื่อคงค้างในพม่าแล้ว

“กลุ่มพลังงาน” หุ้น PTTEP มีโครงการในเมียนมา อาทิ ซอติก้า, ยาดานา และ เยตากุน เป็นต้น แต่ไม่มีรายการเงินกู้ต่างประเทศสำหรับโครงการในเมียนมา ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัท ส่วนในด้านรายรับจากโครงการในเมียนมา ทาง PTTEP รับเงินจาก PTT โดยตรงเป็น USD เข้าบัญชีในประเทศไทย

“กลุ่มชิ้นส่วน” หุ้น DELTA มีโรงงานอยู่ในเมียนมา DELTA โดยโรงงานดังกล่าวผลิตชิ้นส่วนขั้นกลาง แล้วส่งมาประกอบต่อในไทยเป็นหลัก จึงประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะไม่ได้มีรายได้จากการขายภายนอกมากนัก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์