ชงนายกฯ ‘แก้หนี้’ ลูกหนี้ 40ล้านบัญชี จ่อตกชั้นไหลเป็นหนี้เสีย

ชงนายกฯ ‘แก้หนี้’ ลูกหนี้ 40ล้านบัญชี จ่อตกชั้นไหลเป็นหนี้เสีย

“สุพัฒนพงษ์”เตรียมเสนอ นายกฯแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเร่งด่วน 40 ล้านบัญชี ชูโมเดลสิงคโปร์ ยืดหนี้ 3-5 ปี ควบคู่ลดดอกเบี้ยเหลือ 8.5% กลุ่มบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล พร้อมให้แบงก์ชาติเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย “ออมสิน”มั่นใจคุมเอ็นพีแอลอยู่หมัด

      เมื่อ 5 มิ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เพราะระดับหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและมีความอ่อนไหวประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทาง เศรษฐกิจของประชาชน

      คณะกรรมการชุดดังกล่าวมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณา และเร่งหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ในทุกพอร์ตสินเชื่อ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ยิ่งซ้ำเติมให้ครัวเรือน ให้ได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนลามไปสู่ “ลูกหนี้กลุ่มที่มีปัญหา”หรือเป็นหนี้เสียในท้ายที่สุด

ชงนายกฯแก้หนี้40ล้านบัญชี

      แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เตรียมเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อออกแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่มอย่างเร่งด่วน

     เพราะหากยิ่งช้าอาจทำให้ลูกหนี้เป็นวงกว้างไม่สามารถออกจาก “กับดักหนี้” จนอาจกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิต กระทบไปสู่ระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ต่อไป

        ปัจจุบันพอร์ตลูกหนี้โดยรวมทั้งระบบ ทั้งที่ในระบบของบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) และหนี้นอกระบบพบว่า มีลูกหนี้โดยรวมทั้งสิ้น 95.33 ล้านบัญชี ซึ่งได้แก่ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) ลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์อื่นๆ รวมถึงลูกหนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และ PICO Finance

      โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ในระบบเครดิตบูโร 79.24 ล้านบัญชี และบัญชีจากผู้ปล่อยสินเชื่อข้างต้นอีกกว่า 16 ล้านบัญชี  

      แหล่งข่าวกล่าวว่าหากแยกเฉพาะลูกหนี้ภายใต้พอร์ตของเครดิตบูโร 79 ล้านบัญชี มีลูกหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่ม“ลูกหนี้ปกติ” 69.4 ล้านบัญชี ซึ่งในกลุ่มนี้คาดการณ์ว่า จะตกชั้นในระยะข้างหน้าราว 20% หรือ 15 ล้านบัญชี

     ขณะที่มีบัญชีที่เริ่มค้างชำระ 31-90 วัน หรือหนี้ที่ต้องจับตามเป็นพิเศษ(SM) 1.736 ล้านบัญชี ขณะที่มีบัญชีที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ที่ 8.085 ล้านบัญชี

ลูกหนี้มีปัญหาเครดิตบูโร25ล้านบัญชี

     ทั้งนี้หากรวมทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งลูกหนี้ ที่เริ่มค้างชำระ และลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว รวมกันกลุ่มนี้มีถึง 9.8 ล้านบัญชี และคาดการณ์มีอีก 15 ล้านบัญชีที่คาดจะไหลจากหนี้ปกติมาเป็นหนี้ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ต่อไป จากลูกหนี้ในกลุ่มสหกรณ์ กยศ. กลุ่ม PICO Finance ที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือ

   รวมแล้วมีลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งระบบราว 40 ล้านบัญชี

     อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโร เฉพาะลูกหนี้ที่มีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่ม SM ที่เริ่มค้างชำระ ตั้งแต่ 31 วันแต่ไม่เกิน 90 พบว่า มีลูกหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เสี่ยงที่จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ จนกลายเป็นหนี้เสียได้

     โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ ที่ค้างชำระหนี้ 413,445 บัญชี ดังนั้นอาจมีครัวเรือนเกือบ 4 แสนครอบครัวที่อาจกำลังถูกยึดรถได้ในระยะข้างหน้า

      เช่นเดียวกัน “สินเชื่อบ้าน” ที่วันนี้มีลูกหนี้ที่ค้างชำระ หรือเป็นกลุ่ม SM ทั้งสิ้น 1.08 แสนบัญชีที่อาจจะสูญเสียบ้านในอนาคตได้ หากไม่สามารถจัดการปัญหาหนี้สินค้างชำระดังกล่าวได้

     “สภาวะปัญหาหนี้สิน ตั้งแต่โควิด-19 ในหลายมิติ ปรับตัวแย่ลงต่อเนื่อง ดังนั้นจำเป็นต้องรีบเข้าไปแก้ไขและช่วยเหลือลูกหนี้เป็นการเร่งด่วน”

      ไม่เฉพาะครัวเรือนเท่านั้น แต่หากดูผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่เป็นนิติบุคคล ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ก็เป็นอีกกลุ่มที่เดือนร้อนมาก จาก วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะหนี้ส่วนใหญ่ใช้ดอกเบี้ยลอยตัว

      โดย ณ ไตรมาสแรก มีเอสเอ็มอีกว่า 2.87 แสนราย โดยมี 7.7% หรือ 2.2 หมื่นราย เป็นหนี้เสียไปแล้ว ขณะที่หากรวมทั้งกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอล และกลุ่มที่ผิดนัดชำระ กลุ่ม SM ทั้ง 2 กลุ่มเป็นหนี้ที่มีปัญหาแล้ว 11.5%

ชงมาตรการแก้หนี้รายย่อยทั้งระบบ

    แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม คณะกรรมการแก้หนี้สินของประชาชนรายย่อย มีการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ทั้งลูกหนี้ปกติ ลูกหนี้เริ่มค้างชำระ และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว

     โดยเฉพาะกลุ่มที่เริ่มค้างชำระ หรือSM ตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือ จะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสีย

    โดยเฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่เป็น Monitoring loan ที่จ่ายหนี้ไม่ได้เต็มจำนวน จ่ายได้แค่ขั้นต่ำ ควรเปลี่ยนสินเชื่อเหล่านี้เป็นสินเชื่อระยะยาว 3-5 ปี โดยการลดดอกเบี้ยให้ต่ำลง เหมือนที่สิงคโปร์ใช้ราว 8.5% ต่อปี จาก 16-33% ในปัจจุบัน

    ขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อ ที่มีการค้างชำระ 4 แสนคัน ที่ค้างชำระตั้งแต่ 2 งวด จากผลของโควิด ควรถูกปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้ค้างชำระครบ 3 งวด ป้องกันการถูกยึด

     ส่วนลูกหนี้บ้าน และสินเชื่อ Term loan ที่ชำระหนี้ไม่ไหว ควรพักชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยสำหรับการพักชำระหนี้ต้องเป็นธรรม ไม่ซ้ำเติมประชาชน และต้องไม่แพงกว่าดอกเบี้ยผิดนัดชำระ

เสนอปรับโครงสร้างหนี้-ลดหนี้

     กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย ควรมีการไกล่เกลี่ยหนี้สิน หาทางออก แก้หนี้เสียที่มีศักยภาพให้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจ และลดการฟ้องร้อง ดำเนินคดีที่ไม่จำเป็น และกลุ่มที่เป็นลูกหนี้บนเครดิตบูโร ที่เป็นรหัส 21 ที่ 2.6 ล้านบัญชี 2.1 ล้านลูกหนี้ มูลหนี้ 2แสนล้านบาท ควรปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมใส่เงินใหม่ เพื่อให้เดินต่อไปได้ ซึ่งจะทำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดีกว่ากว่าการฟ้องร้องลูกหนี้  

     ขณะที่กลุ่ม รหัส 30 ที่มีเกือบ 2 ล้านบัญชี ควรไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเฉพาะการลดยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การตัดชำระหนี้ใหม่ ที่ให้มีการตัดเงินต้นมากขึ้น หากไม่จบจึงจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

     นอกจากนี้ ลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่เป็นเอ็นพีแอล ของบสย. มีกว่า 2 แสนบัญชี ที่มีศักยภาพ แต่กลับมาชำระหนี้ไม่ได้ เพราะข้อตกลงไม่เป็นธรรม ส่วนลูกหนี้ กยศ. มี 2.4 ล้านราย ซึ่งเป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือหนี้สิน ถ้าแก้ไขไม่ได้ ปัญหาหนี้เสียก็จะติดขัดไปด้วย

    ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มเช่าซื้อ มี 6 แสนคัน ที่ถูกยึดรถ ซึ่งปัจจุบันใช้รถประกอบอาชีพ เช่นแท็กซี่ รถไถนา ดังนั้นควรไกล่เกลี่ยให้สามารถนำรถกลับไปประกอบอาชีพต่อได้

    ลูกหนี้บ้านจำนวน 1.5 แสนหลัง ที่จ่ายค่างวดไม่ได้จากโควิด-19 สถาบันการเงินควรแก้หนี้ให้แทนที่จะขายหนี้ไป AMC ทำให้เดิมที่ต้องชำระหนี้ 30 ปี อาจถูกบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 3 ปี และลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีเกือบ 5 ล้านบัญชี ที่ควรเข้าคลินิกแก้หนี้ โดยการแก้หนี้ควรผ่อนปรน จ่ายเฉพาะเงินต้น ดอกเบี้ย 5% และยืดการชำระหนี้ได้ 10ปี แทนการฟ้อง

ชงธปท.เป็นตัวกลางช่วยลูกหนี้

    แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า มีข้อเสนอจากคณะกรรมการแก้หนี้ว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหา โดยเฉพาะรหัส 21 บนระบบข้อมูลเครดิตบูโร กลุ่มนี้ ควรใช้กลไกของคลินิกแก้หนี้แบบเชิงรุก ด้วยการให้เจ้าหน้าที่จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ร่วมเป็นตัวกลาง หรือเป็นคนกลางดูแลให้เกิดความสมดุล ว่าเจ้าหนี้ยังได้รับการชำระหนี้ ลูกหนี้จ่ายหนี้ได้ตามความสามารถ ในช่วงเวลายากลำบาก

    เหมือนสมัยปี 2540 ที่มีคณะกรรมการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ที่เข้ามาดูแลลูกหนี้ให้รอดไปจนถึง  ปี 2567 หลังจากนั้น อาจปรับตารางการชำระหนี้อีกครั้ง ตามแนวทางของธปท. ที่แนะนำการชำระหนี้แบบหน้าต่ำหลังสูง ไม่ใช่แบบเวลานี้ที่แนะนำให้ลูกหนี้ เดินไปหาเจ้าหนี้ฝ่ายเดียว

     อย่างไรก็ตาม นอกจากธปท.จะต้องเป็นตัวกลางในการเจรจาในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธปท.ยังต้องกำหนดให้มีการตั้งเป้ารายธนาคาร ในการเข้าไปแก้หนี้กลุ่มนี้ ให้ได้ 1 ล้านลูกหนี้ จาก 2.1 ล้านลูกหนี้ รวมถึงควรกำหนดเป้าแบบรายสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น 

    ขณะที่กลุ่มลูกหนี้รหัส 30 ต้องกำหนดให้เจรจาก่อน ผ่านแพลตปอร์ม ธปท. เพื่อให้ทราบปัญหาการเจรจาระหว่างลูกหนี้กับแบงก์ เพื่อป้องกันการฟ้องร้อง

ออมสินเดินหน้าปล่อยกู้ดิจิทัล

    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ ธนาคารจะสามารถปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยผ่านระบบออนไลน์หรือดิจิทัลเลนดิ้งได้ 100% หลังจากที่ได้ทยอยนำร่องปล่อยกู้ผ่านระบบโมบาย เลนดิ้ง ไปบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา 

    “การปล่อยกู้ผ่านโมบายเลนดิ้ง หรือ MyMo  ช่วงที่ผ่านมา เราปล่อยกู้ให้รายย่อยได้ถึง 1.6 ล้านราย และภายในปีนี้ เราตั้งเป้าจะปล่อยกู้ดิจิทัลเลนดิ้งให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยวงเงินในการปล่อยกู้ต่อรายจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1-1.25% ต่อเดือน คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาในพอร์ตเพิ่มขึ้น 2 แสนราย”

     สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 1.95 แสนล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ให้สามารถกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้ กว่า 1 แสนราย ส่วน

    หนี้เสียยังอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ โดยอยู่ที่ 2.67% สูงกว่าปีก่อนเล็กน้อยที่ 2.49% 

     อย่างไรก็ดี ทั้งปีตั้งเป้าจะบริหารจัดการให้ไม่เกิน 3.5% แต่เป็นเรื่องที่ธนาคารต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ตั้งสำรองส่วนเกินไว้จำนวนมากถึง 4.1 หมื่นล้านบาท จาก 2 ปีที่แล้วมีเงินสำรองส่วนเกินเพียง 4 พันล้านบาทเท่านั้น

    เขายังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนส.ค.นี้ด้วยว่า หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารพร้อมจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด

    โดยจะพิจารณาปรับขึ้นหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์อื่นในระบบปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายใหม่ ซึ่งเงินงวดอาจจะสูงขึ้น ส่วนลูกค้ารายเดิมนั้น เงินงวดจะไม่ได้รับผลกระทบ