นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เศรษฐกิจไทยเสี่ยง เจอภาวะ ‘หนี้ครัวเรือน’ระเบิด!

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เศรษฐกิจไทยเสี่ยง เจอภาวะ ‘หนี้ครัวเรือน’ระเบิด!

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ แม้เศรษฐกิจไทยห่างไกลเศรษฐกิจถดถอย จากเสถียรภาพระบบการเงินแกร่ง ด้าน ‘พิพัฒน์’เคเคพี ห่วงเศรษฐกิจโตช้า ลามกระทบหนี้ครัวเรือนระเบิด ขณะที่ ‘กอบศักดิ์’BBL ชี้ไทยเสี่ยงเจอเงินไหลออกรุนแรง หากโลกถดถอยกระทบประเทศเกิดใหม่ล้มละลายพุ่ง

สหรัฐถดถอยทางเทคนิค

     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า วันนี้เริ่มพูดถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยมากขึ้น แต่เป็นการถดถอยเชิงเทคนิคยังไม่ได้ถดถอยจริง ดังนั้นเศรษฐกิจถดถอยจริงจะเกิดต้นปี 2566 ที่คนตกงานและธุรกิจปิดกิจการมากขึ้น

    ขณะที่ไทยยังห่างไกลเศรษฐกิจถดถอย เพราะวันนี้ไทยโชคดีที่มีภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวและเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจาก 0% และหากย้อนดูช่วงวิกฤติซัพไพร์ม พบว่าแม้เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวได้จึงไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วทั่วโลกจะเจอภาวะนี้ด้วย แม้โลกจะเชื่อมกันมากขึ้น

      ทั้งนี้ เศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยจะขยายตัวน้อยลง หรือบวกได้อ่อนๆ เท่านั้น แม้ส่งออกจะลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะปี 2566 หากจีนเปิดประเทศจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมามากขึ้นและเป็นปัจจัยบวกสำคัญให้เศรษฐกิจไทย

     “ตลาดเกิดใหม่”เงินไหลออกรุนแรง

     นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลใจ คือ การเกิดวิกฤติในกลุ่มประเทศเกิดใหม่มากขึ้นซ้ำรอยศรีลังกา ซึ่งอาจเห็นหลายประเทศล้มละลาย และมีหลายประเทศเสี่ยงขึ้นหากเกิดภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

     ดังนั้น เงินทุนไหลออกจะเป็นของจริง นักลงทุนจะขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เพื่อลดความเสี่ยงเพราะไม่รู้ว่าไทยเจอวิกฤติหรือไม่  ดังนั้นอาจมีช่วงที่นักลงทุนเหมารวมและขายสินทรัพย์หรือดึงเงินทุนออกจากภูมิภาคได้

      ทั้งนี้เมื่อผ่านไปสักระยะที่นักลงทุนคัดกรองได้ว่าไทยไม่ได้มีความเสี่ยงหรือเกิดวิกฤติ นักลงทุนจะเริ่มกลับมาไทยใหม่ เพราะไทยไม่ได้รับผลกระทบเหมือนประเทศอื่น

     อีกทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าอยู่ระดับดี ทุนสำรองอยู่ระดับสูง ระบบธนาคารมั่นคง บริษัทเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจไทยประคองตัวผ่านวิกฤติรอบนี้ได้

    แต่กว่าจะผ่านภาวะนั้นต้องเผชิญภาวะผันผวนของเงินทุนไหลออกรุนแรงจากหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ล้มก่อน

     สำหรับ ต้นต่อวิกฤติส่วนหนึ่งมาจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และทุกครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบประเทศตลาดเกิดใหม่ ดังนั้นจะเห็นผลกระทบรอบนี้ 3 เด้ง ประกอบด้วย

    1.เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยทำให้หลายประเทศมี Credit Default สูงขึ้น รวมถึง Risk Premium ในกลุ่มประเทศอิมาจินมาร์เก็ตยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นประเทศที่มีหนี้สูงอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น

     2.หนี้ต่างประเทศสกุลดอลลาร์อาจมากขึ้นตามการแข็งค่าของดอลลาร์ ยิ่งประเทศไหนกู้เยอะเพื่อสู้โควิด-19 อาจเสี่ยงมากขึ้น

    3.ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะยิ่งกระทบต่อประเทศที่กู้เงินต่างประเทศมาก ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติจากปัจจัยเหล่านี้มีสูงขึ้น

หวั่นหนี้ครัวเรือนระเบิด

  นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยถดถอยถือว่ามีโอกาสน้อยมาก เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นมาจากฐานที่ต่ำมาก

     อีกทั้งปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่การฟื้นตัว ท่องเที่ยวทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคน

        ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะนำพาเศรษฐกิจสู่วิกฤติ คือ ปัญหาเศรฐกิจไทยที่เติบโตช้า ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่เปราะบางและสูงขึ้นต่อเนื่อง

     ดังนั้น หากปล่อยให้เศรษฐกิจโตช้าและหนี้โตขึ้นท้ายที่สุดหนี้ครัวเรือนมีโอกาสระเบิดหรือนำไปสู่วิกฤติได้ เพราะความสามารถจ่ายหนี้ของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอีแย่ลง

     “โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดวิกฤติมีน้อยมาก แต่เรามีความเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่อาจกระทบเรามากขึ้นหากจีน สหรัฐ ยุโรปเข้าสู่ภาวะเศรษฐถดถอยหมดเราคงไม่รอด แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยยังดี ส่งออกไปได้ ท่องเที่ยวทยอยเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือเราโตช้า หากปล่อยไปเรื่อยๆ ปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้วอาจยิ่งเพิ่มขึ้น เช่น หนี้ครัวเรือนที่อาจระเบิดจนนำไปสู่วิกฤติเศรฐกิจ”

 แนะรัฐเพิ่มมาตรการ“คลัง”

   นายสมประวิณ มันประเสริฐรองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยังคงมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว แต่ปีหน้าเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หรือ จีดีพีติดลบ 2 ไตรมาส

      ทั้งนี้ หาก “การท่องเที่ยว” ที่เป็นเครื่องยนต์หลักได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คาดคิดเข้ามากดดันจนฟื้นตัวต่อไม่ได้ เช่น การแพร่ระบาดโรคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และการแพร่ระบาดโควิดกลับมารุนแรงขึ้น

     รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่นำไปสู่ความตึงเครียดและรุนแรงขึ้น จนกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวได้อีกแน่นอนว่า “การส่งออก” เป็นอีกเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการที่ยังคงมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐ มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในปีนี้และถอดถอยจริงปีหน้า

     อีกทั้งอีก 2 เดือนข้างหน้า หากตลาดเริ่มรับรู้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าภาวะถดถอยชัดเจนขึ้นและเริ่มรับรู้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะเริ่มเห็นชะลอจ้างงาน การลงทุนหยุดชะงักและการบริโภคมีปัญหา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอเร็วกว่าคาดจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

     “ยังไม่พบสัญญาณเศรษฐกิจไทยถดถอย จีดีพีปีนี้โต 2.9% และปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวได้จากท่องเที่ยว แต่เรากำลังทำโมเดลคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 กรณีความเสี่ยงภาวะถดถอย”

    ดังนั้น ระยะสั้นภาครัฐต้องสร้างระบบกลไกป้องกันให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทย เช่น มาตรการทางการคลังที่เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ

    โดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญภาครัฐ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางด้วยมาตรการด้านการเงินที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะนโยบายดอกเบี้ย เช่น แหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องที่ภาคเอกชนและครัวเรือนเข้าถึงได้จริง

     ส่วนระยะยาวภาครัฐต้องมียุทธศาสตร์ทรานฟอร์มสู่โลกหลังวิกฤติโควิด-19 เช่น ยุทธศาสตร์การเป็นผู้ผลิตโลก และสร้างระบบกลไกที่เอื้อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนตัวเล็กให้แข่งขันได้

สศค.ชี้ไทยไม่ถดถอย

     นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายตัว 2.2% เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ขยายตัว 1.8%

     และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้ ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 1.1% และเครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีนี้ ขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัว 7,420.2%

     รวมถึงมูลค่าการส่งออกสินค้า 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัว 10.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รายได้เกษตรกรที่แท้จริง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ขยายตัว 18.8% และยอดจําหน่ายรถยนต์นั่งและยอดจําหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ที่ขยายตัวที่ 24.6% และ 7.4% ตามลำดับ

     ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตค่อยเป็นค่อยไป โดย สศค.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารโลก คาดว่าขยายตัว 2.9-3.5% มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

1.การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง

    2.การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่อเนื่องหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

     3.การขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 4.การดำเนินนโยบายภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง 

    ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เป็นไปตามนิยามของเศรษฐกิจถดถอย