ประเมินเศรษฐกิจโลกถดถอย สรท.ห่วงคำสั่งซื้อไตรมาส 4

ประเมินเศรษฐกิจโลกถดถอย สรท.ห่วงคำสั่งซื้อไตรมาส 4

สรท.ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย ชี้คำสั่งซื้อไตรมาส 3 มาแล้ว หวั่นเห็นออร์เดอร์ชะลอไตรมาส 4 ถึงต้นปีหน้า ระบุสินค้ากลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ น่าเป็นห่วงจากปัญหาชิป ด้าน“พาณิชย์” เร่งหารือเอกชนรับมือส่งออกครึ่งปีหลัง ห่วงเงินเฟ้อสูงกระทบกำลังซื้อประเทศคู่ค้า

การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2564 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 122,631 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.91% ซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) จีนและญี่ปุ่น ที่กำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลง และมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการประเมินถึงภาวะการส่งออกในครึ่งปีหลังที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศที่จะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผุ้บริโภค

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกในครึ่งปีหลังที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือมี 3 ปัจจัย คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนถึงแม้จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่อยู่ในทิศทางผันผวน 2.ปัญหาการขาดสภาพคล่องเพราะวัตถุดิบราคาแพงมากขึ้น 3.ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต้องติดตามว่ามีความรุนแรงระดับใด

สำหรับตลาดสำคัญของไทยทั้งสหรัฐและยุโรปที่มองว่า ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะชะลอตัวนั้น ขณะยอดคำสั่งซื้อมีแล้วที่ส่งมอบไตรมาส 3 เจรจาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังเห็นภาพขยายตัว แต่จะเริ่มเห็นผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสำหรับส่งมอบไตรมาส 4 ปี 2565 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ส่งออกเตรียมรับมือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาก่อนหน้านี้แล้วหลังจากการที่จีนล็อคดาวน์ที่ส่งผลระทบต่อตลาดจีน

ประเมินเศรษฐกิจโลกถดถอย สรท.ห่วงคำสั่งซื้อไตรมาส 4

“การส่งออกในช่วง 5 เดือน แรกของปีนี้ ขยายตัว 12.9% หากที่เหลืออีก 7 เดือนไม่โตจะทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 5.6% แต่ยังมั่นใจว่า ครึ่งปียังขยายตัวและทำให้ทั้งปีขยายตัว 8% แม้จะมีการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวและมีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ผู้ส่งออกมั่นใจว่าสินค้าไทยหลายกลุ่มที่ยังเป็นที่ต้องการ ซึ่งในเรื่องผลกระทบปีนี้เป็นแค่สนามซ้อมแต่ปีหน้าเจอของจริง“

ห่วงสินค้ากลุ่มยานยนต์

สำหรับกลุ่มสินค้าที่น่ากังวลในช่วงครึ่งปีหลัง คือ สินค้ายานยนต์ โดยในช่วง 5 เดือน แรกของปี 2565 มูลค่าการส่งออกติดลบ 11.2% ซึ่งอาจทำให้มูลค่าการส่งออกรวมปีนี้ไม่ขยายตัว ซึ่งผลกระทบหลักมาจากปัญหาขาดแคลนชิปที่สถานการณ์ดีขึ้นในปลายปี 2564 แต่มาเจอปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบผลิตชิปมากขึ้น เพราะวัตถุกอบผลิตชิปบางรายการอยู่ในรัสเซีย จึงทำให้สถานการณ์สงครามมาซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่

“ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ พัดลมไฟฟ้า ซึ่งคาดหวังว่าในช่วงปลายปีสถานการณ์ชิปจะดีขึ้น”

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ที่การส่งออกในช่วง 5 เดือน แรกของปีนี้ ติดลบไปแล้ว 4.3% ซึ่งที่ผ่านมาจีนใช้มาตรการซีโร่โควิดปิดบางเมือง แต่ปัจจุบันจีนเริ่มผ่อนคลายและมีมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ที่อาจทำให้ความต้องการยางล้อรถยนต์เพิ่มขึ้น

 

 

คาดสินค้าอาหารขยายตัวดี

 

สำหรับสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังยังเติบโต โดยมันสำปะหลังถือว่าดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมันสำปะหลังนำไปผลิตพืชพลังน้ำมันทดแทนพลังงานได้ เช่น เอทานอล ซึ่งราคาดีมากและมีความต้องการสูง 

ขณะที่การส่งออกน้ำตาลขยายตัว 100% ซึ่งถือว่าปีนี้เป็นปีทองของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยที่มีความต้องการสูง ส่วนข้าวยังมีความต้องการสูง โดยปี 2565 น่าจะส่งออกได้ถึง 7.0-7.5 ล้านตัน เนื่องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจีนและเอเชีย ซึ่งมีการบริโภคข้าวสูงจึงมีความต้องการในการนำเข้าข้าวจากไทย

”ภาพรวมสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารโตทุกตัว คาดว่าทั้งปีจะขยายตัว 12% เพราะแค่ 5 เดือนแรก โต 15.5% ที่สำคัญมีปัจจัยหนุนเสริมจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงถึง 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร” นายชัยชาญ กล่าว

ในขณะที่การนำเข้าก็ขยายตัวต่อเนื่องราคาน้ำมันจะสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อไล่เลียงถึงสินค้าก็มี 2 มิติ โดยไทยมีจุดเด่นจากที่มีสินค้าหลากหลายและผู้ประกอบการอยู่กันแบบห่วงโซ่อุปทานและซัพพลายเชน

“พาณิชย์”หารือผู้ส่งออกรับมือ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกยังดีอยู่ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์การส่งออกกับภาคเอกชนต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 1 ก.ค.2565 ได้ประชุมกับภาคเอกชนสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม เพื่อทราบถึงสถานการณ์สินค้าและหารือแนวทางในการส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้ ผลการหารือทราบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารส่วนใหญ่ ยังคงมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีในการส่งออก 

รวมทั้งจะมีตัวเลขในการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายรายการ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม ผลไม้ ผัก ประมง โดยเฉพาะปลาทูน่า อาหารสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ อาหารสำเร็จรูป อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ข้าว และมันสำปะหลัง

“ภาคเอกชนให้ข้อมูลว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารข้างต้นที่มีแนวโน้มดี เนื่องจากเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ และการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ”นายภูสิตกล่าว

นายภูสิต กล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีขึ้นในวันที่ 19-22 ก.ค.นี้ ที่จะถึงนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการสรุปแนวทางการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง นั้นที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องของค่าพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งน่าจะกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคการซื้อสินค้าก็จะได้ซื้อน้อยลง แต่ขณะนี้คำสั่งซื้อสินค้าต่างก็มีอยู่ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณใดๆที่บ่งบอกว่าการส่งออกจะติดลบ เพราะยังมีคำสั่งซื้อมาตลอด ปัญหาอุปสรรคก็ยังเหมือนเดิม เช่น ค่าระวางเรือ