รู้หรือไม่! ภาษีกับ “ค่า Ft“ มีผลต่อ “ค่าไฟฟ้า” อย่างไร พร้อมหลักการคำนวณ

รู้หรือไม่! ภาษีกับ “ค่า Ft“ มีผลต่อ “ค่าไฟฟ้า” อย่างไร พร้อมหลักการคำนวณ

รู้หรือไม่! นอกจากค่า Ft จะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นและลดลง หลักการคำนวณ เป็นอย่างไร อ่านได้ที่นี่

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้าหากบ้านไหนมีคนอยู่เยอะ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเครื่อง เครื่องปรับอากาศหลายตัว หน่วยการใช้ไฟฟ้าก็จะสูงตามไปด้วย โดยใครเคยสังเกตบิลค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนบ้างว่า ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเท่ากัน แต่กลับพบ "ค่า Ft" มีทั้งสูงขึ้นและลดลง ซึ่งนั่นเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำค่าไฟฟ้าสูงหรือลดลงนั่นเอง

ทั้งนี้ นอกจากค่า Ft จะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นและลดลง ซึ่งประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และ ค่าบริการ โดยตัวแปรเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างไร และส่งผลเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยอื่นๆ จนทำให้ค่าไฟฟ้ามีการปรับตัวมากน้อยขนาดไหน ต้องไปติดตาม

ทำความรู้จัก... ค่า Ft

ค่า Ft หรือชื่อเต็ม Float time คือสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่าย ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า

โดยปัจจุบันประกอบด้วย ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้านที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้

ซึ่งจะมีการปรับอัตราค่า Ft 3 ครั้งต่อปี หรือทุก 4 เดือน เพื่อให้เกิดการสะท้อนต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงจากที่คำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน จะมากขึ้นหรือน้อยลงไปตามตัวแปรต่างๆ เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐนั่นเอง

ทั้งนี้ ค่า Ft ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้คิดคำนวณตามสูตรเพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า โดยสูตรการหาค่า Ft คือ จำนวนพลังงานไฟฟ้า x ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) = ค่า Ft ที่ต้องจ่าย

จำนวนพลังงานไฟฟ้า x ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)
= ค่า Ft ที่ต้องจ่าย

ทำความรู้จัก... ค่าไฟฟ้าฐาน

ค่าไฟฟ้าฐาน คือ การใช้ไฟฟ้าที่คิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแบ่งตามประเภทผู้ใช้งานได้ดังนี้

​- ประเภทที่ 1 ​บ้านที่อยู่อาศัย
- ประเภทที่ 2​ กิจการขนาดเล็ก
​- ประเภทที่ 3​ กิจการขนาดกลาง
- ประเภทที่ 4​ กิจการขนาดใหญ่
- ประเภทที่ 5​ กิจการเฉพาะอย่าง
- ประเภทที่ 6​ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
- ประเภทที่ 7 ​กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
- ประเภทที่ 8​ ไฟฟ้าชั่วคราว

​วิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าฐาน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน = จำนวนยูนิต x อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย ซึ่งสามารถตรวจสอบอัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละประเภทได้จากเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง 

 

ทำความรู้จัก...ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่ทางผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งจะถูกเรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนดคือ 7% โดยมีวิธีคำนวณตามสูตร คือ (ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft) x 7% ก็จะได้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่าย

ดังนั้น หากผู้ใช้ไฟฟ้ามีการใช้ไฟมากหรือน้อย ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานสูงหรือต่ำตามไปด้วย รวมถึงค่า Ft ที่มีความผันแปรตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและลดลงจากปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

 

อัตราค่าบริการ

นอกจากนี้จะมีค่าบริการที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เช่น การจดหน่วย การจัดพิมพ์ จัดส่งบิลค่าไฟฟ้า และการบริการผู้ใช้ไฟฟ้า โดยมีความผันแปรไปตามหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ดังตัวอย่างค่าไฟฟ้าฐานประเภทที่ 1 บ้านที่อยู่อาศัย ดังนี้

- บ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน เริ่มต้นที่หน่วยละ 2.3488 บาท ถึงหน่วยละ 4.4217 บาท ค่าบริการ 8.19 บาท/เดือน

- บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน เริ่มต้นที่หน่วยละ 3.2484 บาท ถึงหน่วยละ 4.4217 บาท ค่าบริการ 38.22 บาท/เดือน

- บ้านอยู่อาศัยที่ขอติดตั้งมิเตอร์แบบคิดค่าไฟตามช่วงเวลาของการใช้งาน ในช่วง Peak หรือ Off Peak เริ่มต้นที่หน่วยละ 2.6037 บาท ถึง หน่วยละ 5.7982 บาท ค่าบริการ 38.22 หรือ 312.24 บาท/เดือน

 

หลักการคำนวณค่าไฟฟ้า

หลักการคำนวณค่าไฟ หรือ อัตราไฟฟ้าและอัตราบริการต่อหน่วยสำหรับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเหมือนกัน โดยคำนวณตามอัตราก้าวหน้า

ดังนั้น หากมีการใช้ไฟฟ้าเยอะก็จะยิ่งทำให้ต้องจ่ายค่าไฟมากขึ้น ดังจะยกตัวอย่างการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับไฟฟ้าฐานประเภทที่ 1 บ้านที่อยู่อาศัย

โดยมี สูตรคำนวณค่าไฟฟ้า เพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า คือ ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) + ค่าบริการ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) = ค่าไฟฟ้า  

สมมุติใช้ไฟฟ้าที่ 350 หน่วยต่อเดือน สามารถคำนวณได้ดังนี้

1.ค่าไฟฟ้าฐาน = จำนวนยูนิต (350) x อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย​

คิดแบบอัตราก้าวหน้าประเภทที่ 1.2 อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน
- 150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1 - 150)  หน่วยละ 3.24 บาท = 150 หน่วยแรก 486 บาท
- 250  หน่วยต่อไป (151 - 400) หน่วยละ 4.22 บาท = 200 หน่วยที่เหลือ 844 บาท
- เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.42 บาท

ดังนั้น ค่าไฟฟ้าฐาน คือ 486 + 844 = 1,330 บาท

2.ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) = จำนวนพลังงานไฟฟ้า (350) x ค่า Ft (หน่วยละ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เฉพาะเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565) = 86.70 บาท  

3.ค่าบริการ 38.22 บาท

4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ค่าไฟฟ้าฐาน (1,330) + ค่า Ft (86.70) + ค่าบริการ (38.22)) x 7% = 101.84 บาท  

ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย คือ 1,330 + 86.70 + 38.22 + 101.84 = 1,556.76 บาท   

 

มาตรการส่วนลดอัตราค่า Ft

ล่าสุดทาง กกพ. ได้ปรับอัตราค่า Ft โดยได้ปรับเพิ่มอัตราค่า FT เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
แต่ได้มีมาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร ค่า Ft ช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็กที่ (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่า Ft ที่ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
รู้แบบนี้แล้ว ใครที่ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง เมื่อเห็นค่า Ft ที่ปรับขึ้นรอบล่าสุดแล้ว อาจจะต้องวางแผนการใช้ไฟฟ้าใหม่ ให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะช่วยลดรายจ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าได้ไม่มากก็น้อย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่