"ไทยยูเนี่ยน" เดินหน้านวัตกรรมการเงินต่อเนื่อง จาก Blue Finance สู่ In-House Banking

"ไทยยูเนี่ยน" เดินหน้านวัตกรรมการเงินต่อเนื่อง จาก Blue Finance สู่ In-House Banking

"ไทยยูเนี่ยน" หรือ TU เดินหน้านวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ จาก "Blue Finance" สู่ "In-House Banking"

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือที่คุ้นเคยกันดีในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อ TU เดินหน้านวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ด้วยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงิน หรือ Global Treasury Center ของบริษัท ที่ได้ดำเนินงานด้าน In-House Banking & Automation ในปีนี้ ต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ TU ได้เปิดตัว Blue Finance หรือการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยนำเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องทำให้สำเร็จเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์ประเมินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย โดยโมเดล In-House Banking นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน ขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ของกระแสเงินสด และการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  

Global Treasury Center กับนวัตกรรมทางการเงิน

ยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยถึงโครงการนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่องครั้งใหม่ของบริษัทฯ ว่า ในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ไทยยูเนี่ยน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารและการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์ จึงได้จัดตั้ง Global Treasury Center ในปี 2558 โดยทำงานร่วมกับศูนย์บริหารเงินในเมืองลักเซมเบิร์กที่บริหารงานที่เกี่ยวข้องในทวีปยุโรป และอีกศูนย์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลีส สำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกา

\"ไทยยูเนี่ยน\" เดินหน้านวัตกรรมการเงินต่อเนื่อง จาก Blue Finance สู่ In-House Banking

ในการตั้ง Global Treasury Center บริษัทจะต้องได้รับใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งไทยยูเนี่ยน ได้ดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ จนได้ใบอนุญาตดังนี้

ปี 2558

  • ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) จากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย 
  • ใบอนุญาตจากกรมสรรพากรในการเป็นสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarter: IHQ) 

ปี 2562

  • ใบอนุญาตจากกรมสรรพากรในข้างต้น ได้เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) 

ทั้งนี้ ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยน ยังได้เริ่มระบบการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับบริษัทในกลุ่มประเทศยุโรป (Global Cash Pooling) โดยมีการบริหารรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์และบริษัทได้ขยายขอบเขตของ Global Cash Pooling ให้ครอบคลุมการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับกลุ่มบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2560

\"ไทยยูเนี่ยน\" เดินหน้านวัตกรรมการเงินต่อเนื่อง จาก Blue Finance สู่ In-House Banking

ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะยาวของบริษัทในเครือแถบทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก Global Treasury Center ของบริษัทเอง สำหรับ In-House Banking ของธุรกิจไทยยูเนี่ยนในประเทศไทยนั้น เริ่มในปี 2563 ขณะที่โครงสร้างหรือโมเดลการทำงาน In-House Banking นั้น ได้เริ่มในสำนักงานต่างๆ ของไทยยูเนี่ยนในทวีปยุโรปก่อนแล้ว

เมื่อพูดถึงโมเดลการทำงานของศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย มีความแตกต่างกัน คือ

  • ศูนย์บริหารเงินระดับภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป : ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินทุน เงินสด และสภาพคล่องทางการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่จะคอยบริหารรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ที่ไทยยูเนี่ยนที่ประเทศไทย ในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินนั้น ได้มีการวางนโยบายหลักจาก Global Treasury Center แต่มีการดำเนินการตามนโยบายกับธนาคารในระดับแต่ละภูมิภาค 
  • Global Treasury Center ที่ประเทศไทย : เป็นแหล่งเงินทุนหลักให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด ด้วยการบริหารจัดการเงินสดและสภาพคล่องจากศูนย์กลาง ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำกับธนาคารโดยตรงลดปริมาณธุรกรรมลง และสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินและตรวจสอบต่างๆ อีกด้วย

\"ไทยยูเนี่ยน\" เดินหน้านวัตกรรมการเงินต่อเนื่อง จาก Blue Finance สู่ In-House Banking

Robotic Process Automation (RPA)

ในส่วนของกระบวนการอัตโนมัติทางธุรกิจ (Automation) ไทยยูเนี่ยน เริ่มใช้ Robotic Process Automation (RPA) ในกระบวนการ In-House Banking ของบริษัทสำหรับขั้นตอนและรายงานทางการเงินประเภทต่างๆ ภายในบริษัท ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่บริษัทได้เริ่มนำมาใช้ในปี 2564 ทำให้บริษัทสามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น การเก็บเงิน การจ่ายเงิน และสถานะเงินสด ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบันมากขึ้น เมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิมที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 3-7 วัน 

นอกจากนี้ RPA ยังช่วยให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ทำเป็นประจำสะดวก รวดเร็วมากขึ้น เช่น การรับข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง การโอนเงิน การบันทึกการโอนเงินเข้าระบบ การจัดทำรายงานทางการเงิน และการส่งรายงานและข้อมูลทางการเงินไปยังฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องได้โดยอัตโนมัติและทันท่วงที

กล่าวโดยสรุปคือ นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นโดยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในเรื่องต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพในการทำงาน และมีข้อดีหลักๆ 3 ประการ ได้แก่

  • ในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้ทีมสามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งขั้นตอนต่างๆ ก็ลดลงและง่ายขึ้น
  • ในแง่ของหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแล บริษัทสามารถเห็นภาพของกระแสเงินสดและบริหารจัดการกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ในแง่ของการบริหารจัดการเงินที่คงค้างอยู่ในบัญชี ทั้งในรูปของเงินสด และลดการถือเงินสดในมือ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น

"ถึงแม้จะธุรกิจหลักของ ไทยยูเนี่ยน จะเป็นผู้ผลิตอาหารทะเล แต่ด้วยธุรกิจที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และการที่บริษัทให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เราได้นำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาการบริหารจัดการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น" ยงยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

\"ไทยยูเนี่ยน\" เดินหน้านวัตกรรมการเงินต่อเนื่อง จาก Blue Finance สู่ In-House Banking

บทบาททางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน

  • หนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ
  • เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (ISSF) 
  • เปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® ในปี 2558
  • เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน โดย ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร