ป้องกันความเสี่ยง รับค่า "เงินบาทอ่อน"

ป้องกันความเสี่ยง รับค่า "เงินบาทอ่อน"

สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 7 ปี หลักๆ มาจากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์แข็งเป็นหลัก และการอ่อนค่าของเงินบาท ถือว่ายังอยู่ระดับกลาง ถือว่าเป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งยังอยู่ในระดับดีกว่าบางประเทศในเอเชีย

ค่าเงิน "ดอลลาร์" วันนี้ ต้องบอกเลยว่า "แข็งค่า" มาก ทำให้สกุลเงินหลักๆ อื่นอ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทของไทย โดยการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.ค. 2565 ดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.95% แตะที่ระดับ 108.0220 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี 

"ยูโร" อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.0065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0178 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1896 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2024 ดอลลาร์

ส่วน "ดอลลาร์ออสเตรเลีย" อ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6745 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6851 ดอลลาร์ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 137.28 เยน จากระดับ 136.18 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9799 ฟรังก์ จากระดับ 0.9773 ฟรังก์ 

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2986 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2957 ดอลลาร์แคนาดา เหตุผลสำคัญคือตื่นตระหนก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ เพราะมองว่าฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวล

นอกจากนั้น ตลาดยังคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินใน วันที่ 26-27 ก.ค.นี้ และยิ่งเห็นว่า ตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อ จะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 8.6% ของเดือน พ.ค. 2565 

ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เห็นว่า หากดูสถานการณ์เงินบาทในเร็วๆ นี้ เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 7 ปี หลักๆ มาจากปัจจัยภายนอก คือ ค่าเงินดอลลาร์แข็งเป็นหลัก และหากดูภาพรวม การอ่อนค่าของเงินบาท ถือว่ายังอยู่ระดับกลาง หรือค่อนไปทางสูง หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค

ทั้งนี้ ระดับค่าเงินบาทไทย มาอยู่ระดับอ่อนค่าเกิน 36 บาท ธปท. ยังมองว่าไม่อ่อนค่ามากนัก เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าที่ 11-12% แต่เงินบาทอ่อนค่าเพียง 7% เพราะหากเทียบภูมิภาค ค่าเงินเยน, วอน, เปโซ เหล่านี้ถือว่าอ่อนกว่าเงินบาทไทย

ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารกลางของไทยดำเนินการช่วงนี้ หรือเงินบาทระดับนี้ คือเป็นไปตามกลไกของตลาด แต่หัวใจสำคัญคือ อย่างให้ค่าเงินแกว่งมาก เพราะจะกระทบต่อการทำธุรกิจทั้งขาเข้าและออก

แต่หากเคลื่อนไหวอ่อนในระดับมีเสถียรภาพ ไม่แกว่ง หน้าที่ ธปท. ก็ปล่อยเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และอีกเหตุผลสำคัญคือ ธปท. ยังไม่พบ ไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มหาศาลหรือผิดปกติ

แต่ถึงกระนั้น เราเห็นด้วยว่า ธปท. ต้องส่งสัญญาณต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท. กำลังเข้าไปดูเรื่องต้นทุนจากการประกันความเสี่ยง เพื่อเอื้อความสะดวกผู้ประกอบการ

ดังนั้นสถานการณ์เงินบาทอ่อน หากไม่แกว่งมากก็อย่าเพิ่งวิตก ขณะเดียวกันหันมาเน้นป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อทำธุรกิจโดยไม่ต้องกังวลค่าเงิน เพราะความผันผวนของโลกยังจะเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะ