บขส.คาดประชาชนเดินทางวันหยุดยาวไม่ต่ำ 3 แสนคน ยันตรึงราคาค่าโดยสาร

บขส.คาดประชาชนเดินทางวันหยุดยาวไม่ต่ำ 3 แสนคน ยันตรึงราคาค่าโดยสาร

บขส.คาดหยุดยาว 5 วัน ประชาชนเดินทางไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน ยันตรึงราคาค่าโดยสารถึง 30 ก.ย.นี้ พร้อมเร่งหารายได้ขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 - 17 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตนได้มีการกำชับให้ บขส. เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณห้องน้ำ ลิฟท์ และโถงผู้โดยสาร และให้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางไม่ต่ำกว่า 300,000 คน

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดเฉลี่ยวันละ 34,000 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) เฉลี่ยวันละ 2,800 เที่ยว ส่วนเที่ยวกลับเข้ากรุงเทพฯ คาดว่ามีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละ 33,000 คน ใช้รถโดยสารประมาณ 3,000 เที่ยว ซึ่ง บขส.ได้เตรียมรถเสริมประมาณ 200 คัน มาวิ่งเสริมในเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น

นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่จะเดินทางสามารถจองตั๋วล่วงหน้า ผ่านช่องทางการจำหน่ายตั๋วของ บขส. อาทิ Application E-Ticket, เว็บไซต์ บขส. www.transport.co.th , เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว บขส., เคาน์เตอร์เซอร์วิส และตัวแทนจำหน่ายตั๋วของ บขส.ทั่วประเทศ สำหรับลูกค้าสมาชิก บขส. Card เมื่อซื้อตั๋วโดยสาร บขส. จะได้รับส่วนลด 5% และเมื่อซื้อตั๋วโดยสารเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับคะแนนสะสมคูณสอง

อย่างไรก็ดี ในโอกาสที่ บขส. ครบรอบปีที่ 92 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บขส. ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้บริการประชาชน โดยได้มีการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการโดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อต่อยอดในการบริหารงานให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา บขส. ได้มีผลการดำเนินงาน อาทิ การพัฒนาธุรกิจรับส่งพัสดุภัณฑ์

ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก้ไขมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2502 เรื่องการเดินรถขนส่งต่างจังหวัด ที่ให้ บขส.รับภารกิจเฉพาะการเดินรถโดยสาร เป็นให้ บขส. มีภารกิจด้านการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ บขส. สามารถต่อยอดธุรกิจ พัฒนาการให้บริการได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้ บขส. มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันมีความผันผวน บขส. ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารในอัตราเดิมไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565