เปลือก ’แมคคาเดเมีย’ ทำเงินกลับสู่ชุมชน

มหาวิทยาลัยนเรศวรสร้างมูลค่าให้เปลือกแมคคาเดเมียไร้ค่าสู่โฟมล้างมือสกัดเปลือกแมคคาเดเมียป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส มีประสิทธิภาพในการถนอมผิวพรรณจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ถ่ายทอดสู่ชุมชนสร้างรายได้ ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากลับคืนสู่วิสาหกิจและชุมชน

ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัว ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมียไร้ค่า ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และถนอมผิวพรรณจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอินสระของสารแมคคาเดเมีย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและเกษตรกร สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มจากเปลือกแมคคาเดเมียเหลือทิ้ง ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากลับคืนสู่วิสาหกิจและชุมชน
           ผศ.ดร.ภญ.ณัฐกานต์วดี คำภิระแปง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กล่าวว่า ทางคณะวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือที่มีสารสำคัญจากสารสกัดจากเปลือกของแมคคาเดเมีย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกแมคคาเดเมียอันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตร และนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือสู่ชุมชนต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือรวมกลุ่มกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนต่อยอดการผลิตและการจำหน่าย เพื่อตอบสนองนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมียที่พัฒนาขึ้น สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และจุลชีพอื่นๆ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ทั้งมีประสิทธิภาพในการถนอมผิวพรรณจากฤทธิ์ต้นอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเปลือกแมคคาเดเมียอีกด้วย
             ผศ.ดร.ภญ.ณัฐกานต์วดี คำภิระแปง กล่าวว่า สำหรับแมคคาเดเมีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ทวีปออสเตรเลีย แมคคาเดเมียเป็นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีราคาสูง แต่อย่างไรก็ตามส่วนของเปลือกเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เหลือทิ้งจากการผลิตแมคคาเดเมีย ซึ่งเป็นส่วนที่น่าสนใจในการนำมาเพิ่มค่า เนื่องจากมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเปลือกของแมคคาเดเมีย มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นสารทุติยภูมิหลายกหลายชนิด เช่น สารประกอบฟีนอลิก/ซาโปนิน/สเตอรอล/ฟลาโวนอยด์ และ แทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งฤทธิ์ต้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารทุติยภูมิ