เอกชนจี้รัฐคุม ‘ค่าครองชีพ-ซัพพลายเชน’

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ การส่งออกจะเติบโตต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ทั่วโลกขาดแคลนจะเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น ประเมินว่าปี 2565 การส่งออกจะเติบได้ประมาณ 6-7% หรืออาจจะสูงถึง 10%

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ระบุ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ การส่งออกจะเติบโตต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ทั่วโลกขาดแคลนจะเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น ประเมินว่าปี 2565 การส่งออกจะเติบได้ประมาณ 6-7% หรืออาจจะสูงถึง 10% เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังมีอยู่มาก

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ หลังจากเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาง่ายขึ้น เชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 10 ล้านคน ส่วนที่เป็นปัญหาอยู่คือเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ประสบปัญหาสินค้าราคาแพง รายจ่ายไม่เพียงพอกับรายได้ที่มีซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามหาทางออกในเรื่องนี้

ทั้งนี้ภาคเอกชนได้ร่วมประชุมหารือกับภาครัฐตลอดเวลา โดยมีข้อเสนอแนะในการกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งภาครัฐก็รับฟังภาคเอกชนโดยตลอด โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำในการแก้ไขปัญหาต้องดูแลไม่ให้ซัพพาลายเชนทั้งในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมราคาแพงหรือขาดแคลน ส่วนในแง่รายได้ของภาคประชาชนรัฐบาลต้องเร่งดูแล

 เอกชนดันภาคธุรกิจไทยบนเวทีโลก 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยเดินหน้าเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit 2022 การประชุมสุดยอดผู้นำทางธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก ผลักดันความร่วมมือเพื่อผลลัพธ์แห่งความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคมและประชาชนในภูมิภาคด้วยการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ‘APEC CEO Summit 2022’ ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและการเติบโตของประชาชนและสังคมในเอเชียแปซิฟิกสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการแบ่งปันแง่มุมทางนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตร่วมกัน

เป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก ของประเทศไทยที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ โดยที่ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการเติบโตไม่ว่าการส่งออกกว่า 70% ของจีดีพี การมีภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง 40% ของจีดีพีและภาคบริการที่แข็งแรง 50% ของจีดีพี โดยมีจุดแข็งคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทางการเงิน ตลอดจนจุดแข็งด้านอาหาร ที่ไทยเรามีจุดเด่นด้านความมั่นคงของอาหารในเวทีโลกอีกด้วย

ปัจจุบัน เอเปค มีสมาชิกรวมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ทำให้เอเปค มีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก อันนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในระดับมหภาคที่จะขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก