"ซีเนริโอ" ตีโจทย์หารายได้ธุรกิจใหม่ กระจายเสี่ยง "ละครเวที"

"ซีเนริโอ" ตีโจทย์หารายได้ธุรกิจใหม่ กระจายเสี่ยง "ละครเวที"

วิกฤติโควิด-19 นอกจากส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมหาศาล ยังกลายเป็นตัวแปรทำให้ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัว วางเกมกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจหลัก หาน่านน้ำใหม่หรือ New S-Curve สร้างการเติบโต ไม่เพียงพึ่งละครเวทีแบบเดิมเท่านั้น

โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เป็นสถานที่แสดงเดอะ มิวสิคัลจากค่าย “ซีเนริโอ” ของ “บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ” แต่โรคระบาด การแสดงสด พื้นที่ดึงคนมารวมตัวกันจำนวนมาก เป็น “หน้าด่าน” โดนเบรกกิจกรรม ทำให้กว่า 2 ปี รายได้จากการขายตั๋วหดหายไปหมด

ช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทจึงปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อหารายได้ สร้างการเติบโต โดยมี จิณณวัตร สิริวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด และโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ทำหน้าที่รับภารกิจแก้สารพัดโจทย์

เมื่อธุรกิจหลักของบริษัทคืองานแสดง มิวสิคัลต่างๆ ที่ฐานคนดูใหญ่เป็นเจนเนอเรชั่น X Y กว่า 80% ละครเวทีที่เคยจัดเต็มมากถึง 4 เรื่อง งานแสดงรวมกัน 60-70 รอบต่อปี ไม่สามารถทำได้ การพลิกกระบวนท่าใหม่เพื่อหารายได้ จึงเกิดขึ้นมากมาย

หมากรบแรก รุกดิจิทัล สร้างฐานแฟนเลิฟใหม่มากขึ้น จากเดิมทุกแพลตฟอร์มมีสาวกของแบรนด์กว่า 2 แสนรายเท่านั้น รายการ “เจ๊คิ้มกินรอบวง” หนึ่งในการผลิตคอนเทนต์เสิร์ฟบริโภคและหารายได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มสาวก แต่ยังได้เม็ดเงินสปอนเซอร์หนุนรายการ โดยเฉพาะหมวดของกิน ไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือดิ่ง อาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ยังมีการใช้จ่ายเงินทำโฆษณา การตลาดเสมอ

ปัจจุบัน ซีเนริโอ มีรายการบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอขาฉีดยาหนูหน่อย Fake or Not ที่มีพิธีกรตัวแม่อย่าง “ป้าตือ” และ “ลูกเกด เมทินี” ทำหน้าที่ดึงคนดู เป็นต้น การลุยแพลตฟอร์มออนไลน์ และเจาะฐานแฟนรุ่นใหม่ ทำให้สาวกทุกแพลตฟอร์มทั้งรัชดาลัย เฟซบุ๊ก ยูทูป ฯ เติบโตเกิน 2 ล้านรายเรียบร้อยแล้ว

"ซีเนริโอ" ตีโจทย์หารายได้ธุรกิจใหม่ กระจายเสี่ยง "ละครเวที" “ฐานแฟนเลิฟ 2 ล้านกว่าคน คือปลาในบ่อของเรา ที่จะต่อยอดทำให้รู้จักละครเวทีมากขึ้น จากเดิมที่กังวลว่าคนดูจะรู้จัก เข้าใจศาสตร์ละครเวทีมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันการปรับตัวดังกล่าวยังสร้างรายได้จากสปอนเซอร์เติบโต 200% ท่ามกลางสถานการณ์ขายตั๋วไม่ได้”

หมากรบที่สองการรุกธุกิจบริหารจัดงานอีเวนต์ ออกาไนซ์ งานประชุม งานจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งได้งาน “วันผู้สูงอายุ” จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ซึ่งเป็นงานยาวทั้งปี และงานเอกชน

นอกจากนี้ ยังลุยงานบริหารจัดการศิลปินหรือ Artist Management ชิงตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ขอสร้างแบรนด์คนดังเป็นกลุ่มก้อน ประเดิม “ทีมหมอหล่อซีเนริโอ” ที่มีหมอดังบนโลกออนไลน์จากสาขาต่างๆ เช่น ด้านผิวหนัง ดวงตา ฯ มารวมกลุ่มราว 10 ชีวิตแล้ว ที่จะมาดึงเม็ดเงินโฆษณา งานพรีเซ็นเตอร์ในตลาด โดยเฉพาะนำร่องเซ็กเมนต์สุขภาพและความงาม เพราะจะมีใครที่พูดเรื่องสุขภาพและความงามได้น่าเชื่อถือไปกว่าหมอ คงดียิ่งขึ้น หากเป็น “หมอหล่อ” ดึงดูดด้วย

สเต็ปต่อไปจะเห็นกลุ่มหนุ่มหล่อมารวมตัวกันเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายร้องเพลงประสานหรือคอรัส ซึ่งเป็นการต่อยอดจุดแข็งของซีเนริโอ ที่มีบรรดานักแสดงละครเวทีหรือมิวสิคัล เก่งร้องมากมาย

หมากรบสำคัญอีกตัว คือการลุยบริการ Marketing Service ไม่เพียงช่วยติดอาวุธทำการตลาดให้ลูกค้า แต่ยังรวมถึงการนำไปสู่สร้างยอดขายให้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา มีลูกค้า ธอส. ลุยโปรเจค “New Gen Hug บ้านเกิด” โดยนำจุดแข็งของช่องวัน 31 มาตอบโจทย์ลูกค้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างสรรค์รายการ หาพรีเซ็นเตอร์ สร้างคอนเทนต์ เป็นต้น

"ซีเนริโอ" ตีโจทย์หารายได้ธุรกิจใหม่ กระจายเสี่ยง "ละครเวที" ขณะที่ละครเวที การขายตั๋ว ยังเป็นรายได้หลักของบริษัท การปรับตัวมีให้เห็นเช่นกัน ด้วยการปั้นแบรนด์ละครเวทีใหม่ “เล่นใหญ่รัชดาลัย” มาเจาะสาวกคนรุ่นใหม่เต็มสูบ เนื้อเรื่องจะเน้นนำเสนอความสนุกสนาน แต่นี่คือการตีโจทย์ “ราคาบัตร” เข้าชมใหม่ ในราคา “ต่ำลง” เมื่อเทียบกับละครเวทมีฟอร์มใหญ่สร้างสรรค์

สำหรับเล่นใหญ่รัชดาลัย จะขายบัตรเฉลี่ย 500-3,500 บาท ส่วนละครเวทีฟอร์มใหญ่ราคาอยู่ที่ 700-800 บาท สูงสุดที่ 4,500-5,000 บาท

“ราคาตั้งต้นไม่ต่างกันมาก แต่ราคาบัตรสูงสุดค่อนข้างต่างกัน การปั้นแบรนด์ใหม่เล่นใหญ่รัชดาลัย ยังเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่การแสดงสูงสุดด้วย จากที่บริษัทมีภาระจ่ายค่าเช่าเต็มทั้งปี แต่เรามีละครเวทีราว 4 เรื่องเท่านั้น

ผ่านพ้นครึ่งปีแรก และเข้าโค้งครึ่งปีหลัง สัญญาณบวกเริ่มฟื้นตัว แต่การจัดงานแสดงละครเวที ยังไม่ใช่จังหวะออกตัวแรงนัก บริษัทจึงเดินแผนระมัดระวัง แต่ปีนี้จะเห็นงานแสดงออกมาในสเกลไม่ใหญ่นัก ได้แก มินิคอนเสิร์ต 3 รอบ(เป็นรอบเหมา 1 รอบ)และเดือนสิงหาคมจะมีละครเวที 1 เรื่อง

ทั้งนี้ ภาพรวมครึ่งปีแรก บริษัทสร้างผลประกอบการได้ราว 40% จากเป้าหมายทั้งปี โดยตลอดปีคาดการณ์จะะเห็นรายได้เติบโต และกลับไปยืนระยะเท่ากับปี 2562 ขณะที่การพลิกศาสตร์สู้วิกฤติ มองระยะยาว จะผลักดันธุรกิจใหม่สร้างรายได้ราว 40% ธุรกิจหลักอย่างละครเวที ยังทำเงิน 60% จากขณะนี้ธุรกิจใหม่ทำเงินราว 70%

“ตอนนี้รายได้จากธุรกิจหลักอยู่ที่ 30% เพราะเรายังไม่สามารถจัดงานได้เต็มที่ ปีนี้ยังไม่เหมาะกับการจัดงานนัก ทั้งด้านมู้ดของผู้บริโภคและขนาดความต้องการของตลาดยังไม่มากพอในการทำมิวสิคัลโปรดักชันใหญ่ๆ แต่เราไม่ทิ้ง ยังมีงานสเกลเล็กกระจายจัดทั้งปี”