‘OKMD’ดันศูนย์เรียนรู้ ‘Knowledge & Culture Avenue’ บนราชดำเนิน งบฯ 900 ล้าน

‘OKMD’ดันศูนย์เรียนรู้ ‘Knowledge & Culture Avenue’ บนราชดำเนิน งบฯ 900 ล้าน

"OKMD" ดันโครงการ Ratchadamnoen Knowledge& Culture Avenue พื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่บนถนนราชดำเนิน ครอบคลุมพื้นที่ 5 ไร่ งบลงทุนฯ 900 ล้านบาท รอ ครม.อนุมัติโครงการ คาดโครงการแล้วเสร็จปี 2570

โลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเตรียมพร้อมคนไทยให้มีความรู้และทักษะที่เท่าทันโลก สามารถปรับตัว และสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับตนเองและประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นความจำเป็นเร่งเด่น ภายใต้สถานการณ์ที่ประชากรวัยแรงงานมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และกำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

การพัฒนาศักยภาพของประชาชนจึงต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่น (Resilience) และความคล่องตัว (Agility) เพื่อตอบสนองความต้องการและสถานการณ์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา  สื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและการเข้าถึงความรู้ของคนในปัจจุบัน และที่สำคัญจะต้องมีพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ (Creative Learning Space) ที่เอื้อให้เกิดการพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การค้นพบศักยภาพ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และการพัฒนาทักษะความชำนาญจากประสบการณ์ตรง (Active Learning) ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง (Knowledge Utilization)

โครงการ  "Ratchadamnoen Knowledge& Culture Avenue" ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ “OKMD” จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาศักยภาพคนไทยในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ที่จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของคนไทยได้อย่างเต็มที่  

อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ “OKMD” เปิดเผยถึงโครงการ  Ratchadamnoen Knowledge& Culture Avenue เกิดขึ้นเนื่องมาจาก  OKMD เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาต้นแบบพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัยสามารถตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้และพัฒนาทักษะแห่งอนาคตของคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการความรู้ที่หลากหลาย

 

‘OKMD’ดันศูนย์เรียนรู้ ‘Knowledge & Culture Avenue’ บนราชดำเนิน งบฯ 900 ล้าน

ทั้งในพื้นที่เรียนรู้ทางกายภาพ (Physical Learning Space) และพื้นที่เรียนรู้เสมือน (Virtual Learning Space) จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้แห่งใหม่ โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาพื้นที่ว่าง ขนาด 5 ไร่ ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เดิม) และอาคาร 7 ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ที่อยู่ติดกัน บนถนนราชดำเนินกลาง ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

ภายใต้ชื่อโครงการ Ratchadamnoen Knowledge and Culture Avenue ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเข้าใช้บริการความรู้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านคน ในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ โดยจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570 คาดว่าจะใช้วงเงินก่อสร้างประมาณ 900 ล้านบาทเศษ

สำหรับความคืบหน้าของโครงการนี้ โครงการนี้ได้มีการหารือกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปลายปี 2564 และได้มีการไปชี้แจงโครงการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังแล้ว ส่วนในแบบก่อสร้างนั้น ก็ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการภายใต้ คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยขณะนี้รอให้โครงการนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ส่งเสริมให้คนไทยพัฒนาศักยภาพของตัวเอง อันจะเป็นรากฐานการสร้าง Soft Power ของไทยต่อไปในอนาคต”

‘OKMD’ดันศูนย์เรียนรู้ ‘Knowledge & Culture Avenue’ บนราชดำเนิน งบฯ 900 ล้าน

OKMD จัดตั้งขึ้นในปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สร้างสรรค์ของประชาชนทุกช่วงวัย ผ่านการพัฒนาและให้บริการต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และการขยายผลต้นแบบแหล่งเรียนรู้ไปยังพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพการเรียนรู้และลดช่องว่างในการเข้าถึงความรู้ของคนไทย โดยในปัจจุบันประกอบด้วยต้นแบบแหล่งเรียนรู้ใน 2 รูปแบบ คือ

 1.สถาบันอุทยายการเรียนรู้ หรือ TK Park ต้นแบบห้องสมุดมีชีวิต (Living Library) ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมและพื้นที่เรียนรู้ที่มีความทันสมัยในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งมีการขยายผลไปยังเครือข่าย 30 แห่ง ใน 23 จังหวัด

และ 2. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ Museum Siam ต้นแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ (Discovery Museum) ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมและนิทรรศการที่มีความทันสมัยและน่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์และตั้งคำถาม ซึ่งขยายผลไปยังเครือข่าย 16 แห่ง ใน 13 จังหวัด

 นอกจากนี้ OKMD ยังได้พัฒนาต้นแบบความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ต้นแบบสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-based Learning) ที่เน้นการพัฒนาสนามเด็กเล่นให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ต้นแบบศูนย์ความรู้กินได้ (Knowledge Center) ที่เป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้

 โดยการบูรณาการภูมิปัญญาไทยเข้ากับเทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์และบริการสร้างสรรค์ และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์รูปแบบใหม่ (OKMD Knowledge Portal) ที่รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย

โดยประชาชนสามารถเข้าไปเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พร้อมกับกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Learning Activity) ที่มีความน่าสนใจ เป็นต้น