‘หอการค้า’ ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ฟื้นตัว

ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนได้ในปลายไตรมาส 3 เนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศ นับตั้งแต่ ก.ค. 2565 ซึ่งจะทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา ช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคท่องเที่ยว

อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนได้ในปลายไตรมาส 3 เนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศ นับตั้งแต่ ก.ค. 2565 ซึ่งจะทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา ช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง

โดยคาดว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อยู่ในกรอบ 2.5 - 3.5% หรือเฉลี่ยทั้งปีขยายตัว 3.1% ขณะที่ไตรมาส 3 การขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 4.1% และไตรมาส 4 ขยายตัว 3.8% ผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยมองว่าครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 6-8 ล้านคน และจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลทำให้ธุรกิจกลางคืนเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้มีเงินสะพัดเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนการส่งออกของไทยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 5-7%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทย คาดว่าไตรมาส 3 จะขึ้นไปแตะระดับสูงสุด เฉลี่ยที่ 7.6% เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ทยอยปรับขึ้นราคาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และจะเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 5.5 - 6.5%  เฉลี่ยอยู่ที่ 6.7 % ตามทิศทางการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงเงินเฟ้อลงมาได้ โดยคาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2% เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้ง 3 ครั้งเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ สิ้นปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.25% 

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ มาจากดอลลาร์ยังมีทิศทางแข็งค่า เนื่องจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น คริปโทเคอร์เรนซี ทองคำ น้ำมัน และหันไปถือครองเงินดอลลาร์แทน รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี จะทำให้มีเงินไหลเข้าสหรัฐมากขึ้นเพื่อหวังอัตราผลตอบแทนที่สูง ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า และทำให้เงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องอยู่ในระดับนี้ไป 1-3 เดือน จากนั้นจะค่อยปรับแข็งค่ามาอยู่ที่ 35 – 36 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกคงไม่ทะลุไปที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมองว่าจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเอกชนจะต้องมีการปรับตัวและลดต้นทุน


เชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวครั้งแรกรอบ 6 เดือน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 65 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.6 จากเดือนพฤษภาคม 65 อยู่ที่ระดับ 40.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากการที่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัว

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่

สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั้งโลกเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรม, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, กนง.ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 เป็น 3.3% จากเดิม 3.2%, การส่งออกในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 10.47% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลการระบาดของโควิด ปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าแพง ความกังวลเรื่องผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และค่าเงินบาทอ่อนค่า