ตลท.ชี้หุ้นไทย ไม่เข้าสู่ภาวะตลาดหมี -ไร้กระทบการระดมทุน

ตลท.ชี้หุ้นไทย ไม่เข้าสู่ภาวะตลาดหมี -ไร้กระทบการระดมทุน

ตลท. ชี้ตลาดหุ้นไทย ยังไม่เข้าภาวะตลาดหมี เหตุ ดัชนีปรับลดลงเพียง 5% -ฟันด์โฟลว์ไหลออกน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ลุ้นไตรมาส 3 หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในตลาดคลี่คลาย หนุนตลาดหุ้นไตรมาส 4 ต่อเนื่อง มั่นใจไอพีโอเดินหน้าเข้าจดทะเบียนต่อเนื่อง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  เปิดเผยว่า  ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย ยังไม่เข้าสู่ภาวะตลาดหมี  (Bear Market)  เนื่องจาก  ดัชนีปีนี้ปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2564 เพียง 5.4%  ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงและผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นหลายแห่ง เช่น สหรัฐ ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดของปีไปกว่า 20% หรือเข้าสู่ภาวะตลาดหมีแล้ว 

โดยสาเหตุที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงแรง เพราะนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายสิบปี อีกทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเติบโตในระดับต่ำมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา (Stagfiation) โดยเริ่มเห็นการพิจารณาเพิ่มสัดส่วน เงินสดในพอร์ตลงทุน   

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดดว่า หากในไตรมาส 3 ปีนี้ ปัจจัยลบที่ไม่แน่นอนเข้ามากดดันภาวะตลาดทุน ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ  ดอกเบี้ย  ค่าเงินบาท  และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย เริ่มชัดเจนในทิศทางที่ดี จะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4 ปีนี้  

รวมถึงจากที่ภาคธุรกิจส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องและท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องหลังเปิดเมือง   ทำให้คาดว่าในไตรมาส4 ปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะมีการเติบโตได้ดี  รวมถึงปัจจุบันสภาพคล่องในประเทศยังอยู่ในระดับสูง และความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) กำลังดีขึ้นต่อเนื่อง 

 

ดังนั้นทำให้ โอกาสที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งสะท้อนได้จากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD)นักลงทุนต่างชาติยังมียอดซื้อสุทธิ  109,067 แสนล้านบาท   และจากที่ระดับราคาหุ้น (Valuation)  ของหุ้นไทยตอนนี้ถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย  และเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสในการเติบโต น่าจะมีกระแสเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับเข้ามาได้เมื่อปัจจัยไม่แน่นอนต่างๆ ในตลาดมีความชัดเจนแล้ว

นายภากร กล่าวว่า ปัจจัยที่ไม่แน่นอนเข้ามากดดันภาวะตลาดทุนที่ยังต้องติดตาม ตอนนี้มีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การลดปริมาณเงินเข้ามาในระบบของธนากลางโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโลกลดลง 2. ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันและอาหารสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างมาก3.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ซึ่งหากดูจาก 3 เรื่องนี้สิ่งที่กระทบต่อตลาดทุนไทยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆจะค่อนข้างน้อย 

อย่างไรก็ตามปัจจัย3 เรื่อง  ตลาดรับข่าวไปส่วนใหญ่แล้ว หากไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามาอีก น่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ต่อเนื่อง    อีกทั้งปัจจัยลบต่างๆ ในตลาดตอนนี้ คาดว่า จะไม่กระทบต่อภาวะการระดมทุนในตลาดหุ้นมากนัก เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่การระดมทุนก็ไม่ได้ถูกผลกระทบหรือกระทบน้อยมาก

ทั้งนี้คาดว่าทั้งจำนวนบริษัทและมูลค่าการระมทุนในปีนี้จะไม่ได้แตกต่างจากช่วงปีก่อน เพราะปัจจุบันยังมีบริษัทที่อยู่ในแผนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)  จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งขนาดใหญ่  กลาง และเล็ก