“อาคม”รับบาทอ่อนค่าผลการไหลออกของเงินทุน

“อาคม”รับบาทอ่อนค่าผลการไหลออกของเงินทุน

“อาคม”ยอมรับเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เป็นจากเงินทุนไหลออก หลังจากค่าเงินดอลลาร์และหยวนแข็งค่าขึ้น โดยธปท.จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ด้านเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ รัฐบาลเตรียมมาตรการดูแลเฉพาะกลุ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลงว่า มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจภายนอก อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่เงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และเงินหยวนก็เริ่มแข็งขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้มีการไหลออกของเงินทุนบ้าง

ทั้งนี้ ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนในตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีผลกระทบเล็กน้อย แต่นักลงทุนจากต่างประเทศก็ยังคงให้เชื่อมั่นกับตราสารที่ออกโดยประเทศไทยอยู่ ขณะที่ ตลาดทุนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดทั่วโลก

ส่วนทิศทางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงถึง 7.66% ถือว่า สูงสุดในรอบ 13 ปีนั้น นายอาคม กล่าวว่า หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยยังถือว่า เป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งในเรื่องนี้ ทางรัฐบาลยังมีมาตรการออกมาดูแลเฉพาะกลุ่ม ทั้งเรื่องราคาสินค้า และพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการหารือกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการ หามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มด้วย

ส่วนการขยายต่อมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 ก.ค.นั้น ยังคงมีเวลาพิจารณาอยู่ โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกในขณะนี้ก็มีทั้งสูงขึ้น และลดลง ซึ่งราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ลดลงถึง 10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  แต่ในส่วนของไทยราคาน้ำมันจะยังไม่ลง เพราะใช้ราคาอ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ขณะเดียวกัน ต้องดูอีกหลายปัจจัย เช่น  ต้องดูภาระเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

นอกจากนี้ นายอาคม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเปิดตัว “แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” (Launch of Thailand SDG Investor Map)ว่า งานนี้เป็นความร่วมมือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก.ล.ต และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) โดยเป็นการส่งเสริมการลงทุน หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ในช่วง 2 ปี ทำให้ว่างจากการลงทุนไปมาก

ดังนั้น ความร่วมมือนี้จึงจะเข้ามาเป็นสนับสนุนการลงทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การจะสนับสนุน การลงทุนในเรื่องของBCG ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ได้หันมาลงทุนด้านนี้แล้วหลายกลุ่ม อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนที่อยู่อาศัย บ้านอัจฉริยะ และลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ในส่วนของกระทรวงการคลังก็ได้ออกพันธบัตรเพื่อยั่งยืน ที่ใช้ในการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีการเยียวยาผู้กระทบจากโควิดด้วย